เอไทม์-อสมท เดินหน้ารุก ‘วิทยุ’ ต่อยอดคอนเทนต์ ดันรายได้ฟื้น

19 มี.ค. 2565 | 04:10 น.

สื่อวิทยุคึกคัก หลัง 2 บิ๊ก “จีเอ็มเอ็ม มีเดีย-อสมท” ชนะประมูลคลื่น เอไทม์ เดินหน้าต่อยอดกรีนเวฟ สู่ The Entertainment Creator ปั้นคอนเทนต์เชื่อมออนแอร์-ออนไลน์ "อสมท" ลุยรื้อโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการใหม่สู่ดิจิทัล แพลตฟอร์ม

การประมูลคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการวิทยุระบบเอฟเอ็ม โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้ 2 บิ๊กเนมอย่าง “อสมท” ที่ชนะการประมูลไปถึง 47 คลื่น กับ “จีเอ็มเอ็ม มีเดีย” ที่ชนะการประมูลต่ออายุคลื่น “กรีนเวฟ” ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หลังกำใบอนุญาตวิทยุประเภทธุรกิจฯ ต่อไปอีก 7 ปีนับจากวันที่ 4 เม.ย. นี้เป็นต้นไป

 

นายสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ เอไทม์ (Atime) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอไทม์ถือเป็นผู้นำในสื่อวิทยุที่มีฐานผู้ฟังมายาวนานกว่า 30 ปี และปัจจุบันมีทั้งแพลตฟอร์มออนแอร์และออนไลน์ หลังได้รับใบอนุญาตฯ แล้วทำให้เอไทม์เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุเต็มรูปแบบครั้งแรกจากเดิมที่เป็นคลื่นวิทยุของภาครัฐ ทำให้บริษัทสามารถเข้าบริหาร วางแผนพัฒนาได้เต็มรูปแบบ ซึ่งวันนี้คลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็มเป็นคลื่นที่มีมาร์เก็ตแชร์มากที่สุด มีแบรนดิ้งที่แข็งแรง และฐานผู้ฟังที่รอยัลตี้สูง

สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร

สำหรับแผนงานในอนาคตบริษัทวางเป้าหมายให้เอไทม์เป็น The Entertainment Creator ที่พร้อมนำเสนอคอนเทนท์บันเทิงในทุกรูปแบบเชื่อมต่อออนแอร์-ออนไลน์ (O2O) ไม่ใช่เฉพาะเสียงไม่ใช่เฉพาะวิทยุอย่างเดียว แต่รวมไปถึงแอพพลิเคชั่น ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยเพิ่มออนไลน์ สเตชั่นอีก 3 คลื่น

 

ได้แก่ White POP เสิร์ฟแนวเพลงป๊อป/ Hot Wave ที่เราเอากลับมาทำเป็นออนไลน์ สเตชั่น เป็นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น และ Cassette เอาใจคอเพลงเก่ายุค 80-90 รวมทั้งรีแบรนด์ดิ้ง Chill ที่จะเป็นคลื่นที่มีเพลย์ลิส และ มีเนื้อหาไลฟ์สไตล์ที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆไม่ซ้ำใคร จากวันนี้ที่มีคลื่นวิทยุกรีนเวฟและอีเอฟเอ็ม

 

นอกจากนี้เอไทม์ยังมีแผนผลิตรายการทีวีเพิ่มจากปัจจุบันที่ผลิตรายการ “แฉ” ทางช่อง GMM 25 และ “คชาภาพาไปมู” ทางช่องไทยรัฐทีวี รวมทั้งผลิตซีรี่ส์ บน OTT แพลตฟอร์มและออกอากาศทางทีวี เช่น อังคารคลุมโปง เดอะ ซีรี่ส์ และในอนาคตจะมีซีรีส์อื่นๆ ตามมา อาทิ OUR DAYS รักได้ไหมนายไม่ยิ้ม ซีรีส์วาย ผลิตโดย Atime26 ด้วย

คอนเทนต์ เอไทม์

“ภาพรวมสื่อวิทยุที่หลายคนมักพูดว่า คนไม่ฟังวิทยุแล้ว ต้องแยกประเด็นคือ คนไม่ฟังจากวิทยุ แต่ฟังจากเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ออนไลน์ แล้วแต่ความสะดวก ซึ่งมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าคนเปลี่ยนการฟังผ่านดีไวท์อื่น เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ทำให้เชื่อว่าสื่อวิทยุยังไปได้ แม้วันนี้จะมีสื่อทางเลือกที่มากขึ้น แต่ความแข็งแรงของแบรนด์สามารถนำไปต่อยอดเป็นคอนเทนต์ที่หลากหลายนอกจากวิทยุได้”

 

อย่างไรก็ดีผลประกอบการของเอไทม์ในช่วงก่อนโควิดมีรายได้จากวิทยุ 70% คอนเสิร์ต 30% แต่เมื่อเกิดโควิด ทำให้สัดส่วนรายได้เปลี่ยนไป เป็นรายได้จากวิทยุ 70% และกิจกรรมอื่นๆ 30% อาทิ คอนเสิร์ตออนไลน์, ทีวีและซีรีส์ สำหรับผลประกอบการในปีนี้เชื่อว่าจะฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวก หลังจากที่สามารถจัดคอนเสิร์ตและอีเว้นต์ต่างๆได้

 

ด้านรศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สื่อในรูปแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นทีวี รวมถึงวิทยุถูก disruption ด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของออนไลน์ ความเร็ว ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทีวีหรือวิทยุขณะนี้เผชิญกับกระแสที่ผันผวนอย่างมาก หลังชนะประมูลได้สัมปทานหรือใบอนุญาตมาอาจเป็นช่วงที่ maximum ของวิทยุ เพราะฉะนั้นสื่อดั้งเดิมจะต้องมีการปรับตัว ซึ่งหลังจากนี้กลยุทธ์ในการแข่งขันจะไม่ค่อยต่างกัน แต่ความต่างก็คือใครสามารถที่จะทำได้เร็วและดีกว่ากัน

 

“กลยุทธ์การแข่งขันวิทยุนับจากนี้ คงจะไม่แตกต่างกันระหว่างรายใหญ่ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือวิธีการบริหารจัดการและการปรับกลไกในการอำนวยการต่างๆ ส่วนกลยุทธ์ยังมีลักษณะคล้ายๆเดิม โดยอสมท จะมุ่งไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้การแข่งขันจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีผู้เล่นใหม่เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น ไม่ได้มีรายใหญ่ไม่กี่รายเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะต้องถูกยกระดับทั้งในเรื่องของกลยุทธ์ทางธุรกิจ วิธีการบริหารจัดการที่จะต้องรวดเร็วและตรงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุดและเร็วที่สุด”

รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์

ทั้งนี้อสมท มีวัตถุประสงค์คือต้องการเพิ่มรายได้ ซึ่งธุรกิจวิทยุก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย ธุรกิจวิทยุตอนนี้เผชิญกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่ 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือเรื่องของการประมูลในครั้งนี้แน่นอนที่สุดการประมูลในครั้งนี้ผู้ใช้บริการหรือผู้ที่จะมาใช้บริการคลื่นก็ต้องคิดต่อว่าจะเดินต่อหรือไม่อย่างไร

 

ปัจจัยที่ 2 คือเรื่องของโรคระบาด ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้ส่วนหนึ่งของวิทยุมาจาก on ground event ที่จัดขึ้นมา ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินที่เข้าสู่การจัดทำ on ground event ลดลงแทบจะเหลือ 0% เฉพาะฉะนั้นในปีนี้ถ้าสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นในส่วนที่เป็น on ground event สามารถจัดขึ้นมาได้ก็น่าจะมีรายได้กลับเข้ามาในส่วนนี้มากขึ้น”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,766 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2565