“สันติ” ฟาดกลับ “สส.เพื่อไทย” ใครกันแน่ไม่รักษาผลประโยชน์ชาติ

20 ก.ค. 2565 | 09:27 น.

“สินติ พร้อมพัฒน์” แจงยิบเหตุยกเลิกประมูลท่อส่งน้ำอีอีซีครั้งที่ 1 พร้อมถามกลับ “ยุทธพงศ์” ส.ส.เพื่อไทย เหตุใดไม่เอาเวลาไปตรวจสอบผลประโยชน์รัฐที่หายไปช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะมากล่าวหาตนและกรมธนารักษ์ที่เปิดประมูลใหม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายในประเด็นการคัดเลือกเอกชนในการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ไม่โปร่งใส ล้มการประมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายนั้น

 

โดยนายสันติ ชี้แจงว่า ในการใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนที่จะมาเป็นผู้บริหารโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น เป็นไปตามคำแนะนำของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาและผู้รวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องในการจัดทำ TOR  

คือ ใช้วิธีการยกเว้นการประมูล โดยใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนอย่างน้อย 3 ราย ซึ่งเป็นวิธีที่คล้ายกับการเปิดประมูล และยังกำหนดให้มีการกำหนดเงื่อนไขในการเจรจาที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐด้วย

 

ดังนั้นคณะกรรมการฯจึงใช้วิธีดังกล่าว เนื่องจากมีการเปิดการแข่งขันและรัฐสามารถพิจารณาศักยภาพของเอกชนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำที่จะมาเข้าร่วมประมูลได้

 

ส่วนกรณีที่ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง และ บริษัท วิค ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมทดสอบความสนใจ แต่ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอนั้น เนื่องจาก ทั้ง 2 บริษัท ได้แสดงความประสงค์ขอเข้ารวมยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมประมูล กรมธนารักษ์จึงอนุญาต เพราะไม่ได้ปิดกั้นบริษัทที่มีความชำนาญในการเข้าร่วมแข่งขันดังกล่าว

ส่วน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะไม่เคยดำเนินการบริหารจัดการเรื่องน้ำมาก่อน ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาคเนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่เข้าร่วมการประมูล ทำให้เหลือเพียง 5 บริษัทในการเข้าร่วมประมูล

 

ขณะที่สาเหตุการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 นั้น เนื่องจาก บมจ. อีสท์วอเตอร์ ได้เสนอปริมาณน้ำที่ 359 - 502 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี บจ.วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอปริมาณน้ำ 58.80 - 220.10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งปริมาณน้ำที่เสนอกันมานั้น เกิดความลักลั่น

 

ส่วนผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ บมจ. อีสท์วอเตอร์ เสนอให้ 9,597 ล้านบาท และ บจ.วงษ์สยาม เสนอให้ 9,030 ล้านบาท แต่เนื่องจากใน TOR ไม่ได้มีการระบุถึงศักยภาพปริมาณของท่อส่งน้ำทั้ง 3 เส้นอย่างชัดเจน ซึ่งมีศักยภาพรวมอยู่ที่ 150 - 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถตัดสินผลชนะการประมูลได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1

 

ในการประมูลครั้งที่ 2 จึงได้มีการกำหนดศักยภาพท่อหรือปริมาณน้ำเท่ากันทั้งหมด ที่ 151 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยได้มีผู้เข้ายื่นซองจำนวน 3 ราย รวมถึง บมจ.อีสท์วอเตอร์ ที่เสนอให้ผลตอบแทนรัฐรายปีและค่าแรกเข้า ที่ 24,212 ล้านบาท บจ.วิค เสนอให้รัฐ 6,173 ล้านบาท และ บจ.วงษ์สยามฯ เสนอให้รัฐ 25,693 ล้านบาท

 

“ดังนั้นตามที่บอกว่ากรมธนารักษ์ ตัวผมเอง หรือคณะกรรมการ ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ จึงเป็นไปไม่ได้ และขอเรียนท่านยุทธพงศ์ ที่กล่าวหาว่าผม และกรมธนารักษ์ว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐนั้น ใน 30 ปีตัวเลขที่ท่านคิดขึ้นเองว่าจะได้กำไรหรือผลประโยชน์ถึง 7 หมื่นล้านบาทนั้น

 

ถ้าพูดแบบนี้และจากข้อเท็จจริงในการประมูลครั้งที่ 2 ที่ อีสท์วอเตอร์เสนอให้ 24,212 ล้านบาท ส่วนวงษ์สยามเสนอมาที่ 25,693 ล้านบาท แล้วท่านยังคิดว่าได้มากกว่านี้อีก ขอให้คิดย้อนกลับไปว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์ได้ให้ผลตอบแทนรัฐไม่ถึง 600 ล้านบาทเลย แทนที่จะพูดปราศรัย หรือ พูดไม่ไว้วางใจผมว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ท่านไปคิดดูว่าการที่ท่านโน้มเอียงไปทางอีสท์วอเตอร์นั้น ท่านรักษาผลประโยชน์หรือไม่” นายสันติกล่าว

 

นายสันติ กล่าวว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อีสวอท์เตอร์จ่ายให้รัฐ 600 ล้านบาทเศษ แต่จากวันนี้จนถึง 30 ข้างหน้ารัฐจะได้รับกว่า 25,000 ล้านบาท แล้วเหตุใดท่านยุทธพงศ์ ถึงมากดดันให้เปิดประมูลใหม่อีก ซึ่งถ้าหากเปิดประมูลใหม่ และมีการยื่นราคามาเหมือนครั้งแรกที่ 6,000 กว่าล้านบาท ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินที่หายไป

 

และในการยื่นซองครั้งที่ 2 ตลอดจนการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 นั้น ศาลก็ได้มีคำวินิฉัยแล้วว่าเป็นสิทธิของคณะกรรมการฯ ที่มีสิทธิในการยกเลิกการประมูล หากพบว่าการประมูลมีเหตุทำให้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครเป็นผู้ชนะ 

 

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ที่บอกว่าอีสท์วอเตอร์มีการประปาส่วนภูมิภาคถือหุ้น 10% ยังถือว่ามีรัฐวิสาหกิจถือหุ้นอยู่นั้น ทราบหรือไม่ว่า อีสท์วอเตอร์ มีบริษัทเอกชนถือหุ้น 50% ซึ่งในนั้นมีบริษัทต่างชาติ ถือหุ้นอยู่ประมาณ 25%  

 

"30 ปีที่ผ่านมาผลประโยชน์ของชาติหายไปไหน ผมจะฟ้องประชาชน และท่านยังมากล่าวหา ทำให้ข้าราชการกระทรวง ข้าราชการกรมธนารักษ์เสียกำลังใจ เพราะว่าทุกคนได้มีการดูอย่างรอบคอบ ตรวจสอบกฎหมายในทุกขั้นตอนแล้ว และพบความไม่เป็นธรรมในครั้งแรกจึงต้องยกเลิก และทำการคัดเลือกใหม่ในครั้งที่ 2" นายสันติ กล่าว

 

นายสันติ ยังตั้งคำถามอีกว่า หากมองว่าไม่เป็นธรรม เหตุใดอีสท์วอเตอร์ จึงเสนอราคาในครั้งที่ 2 ถึง 24,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ขณะเดียวกันในการประมูลครั้งที่ 2 ยังเสนอให้ผลตอบแทนรัฐเพิ่มทันที 25% จากครั้งแรกที่เสนอมาเพียง 3%

 

ดังนั้นจึงขอยืนยันและชื่นชมในคณะกรรมการของกรมธนารักษ์ที่ทำงานด้วยความเที่ยงตรง ยึดกฎระเบียบและผลประโยชน์ของชาติทั้งๆ ที่ถูกนายยุทธพงษ์กดดันมาตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงในประเด็น ที่ระบุว่า จะทำให้ผู้ใช้น้ำในภาคตะวันออก ที่ใช้น้ำที่ผ่านจากท่อส่งน้ำของกรมธนารักษ์เกิดความเสียหาย นั้น ขอเรียนว่าใน TOR ครั้งที่ 2 ได้มีการกำหนดค่าน้ำตลอดอายุสัญญา 30 ปี โดยต้องเก็บไม่เกิน 10.98 บาทต่อลูกบาศก์เมตร 

 

ในขณะที่ 30 ปีที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์เก็บค่าน้ำขั้นต่ำ 12 บาทกว่าต่อลูกบาศก์เมตร และขั้นสูงถึง 26 บาท ดังนั้นผลประโยชน์ของประเทศและของรัฐหายไปไหน พร้องมองว่าในฐานะที่เป็นผู้แทนประชาชน และผู้ที่กินเงินเดือนจากประชาชน สมควรไปตรวจสอบว่าผลประโยชน์ที่รัฐเสียไปขนาดนั้น เงินหายไปอยู่ที่ไหน