แบงก์กรุงเทพชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยง กดดันพอร์ตนักลงทุน

16 ก.ค. 2565 | 09:30 น.

แบงก์กรุงเทพ แนะกลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง เน้นลงทุนเป็นพอร์ตระยะยาว ถือสินทรัพย์หลากหลาย สู้เงินเฟ้อได้ มีสภาพคล่อง พร้อมกระจายความเสี่ยง รับปีนี้ปัจจัยเปลี่ยนเร็วและยังมีแรงกดดันจากสงครามและเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนมิ.ย.ขยายตัว 9.1 สูงสุดในรอบ 41 ปี ทำให้ตลาดคาดารณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นถึง 1% ในการประชุม FOMC เดือนนี้  เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแรงกดดันจากเงินเฟ้อและต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดความวิตกมากยิ่งขึ้นว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า

 

นางสาววรพร วิทยะสิรินันท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริหารกลุ่มลูกค้าลักษณะเฉพาะ (Micro Segment Management) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนปีนี้เปลี่ยนแปลงเร็วและรุนแรงมาก โดยที่ต้องจับตามากคือ ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงภูมิศาสตร์หรือ Geopolitical risks โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ได้รับจากผลกระทบของโควิด-19

นางสาววรพร วิทยะสิรินันท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริหารกลุ่มลูกค้าลักษณะเฉพาะ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 

ปัจจัยต่างๆ กดดันให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังจะเห็นได้ว่า สินทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับลดลงแรงในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา และกระทบต่อ Wealth ของลูกค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน รวมถึงในครึ่งปีหลังที่ยังคงต้องระมัดระวังต่อไป ด้วยการจัดสรรเงินลงทุนอย่างระมัดระวังเหมือนที่เกิดขึ้นกับช่วง 6 เดือนแรกของปี

 

สำหรับแนวโน้มการให้บริการธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการแนะนำให้ลูกค้าลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอที่กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สำหรับลูกค้าแต่ละคน มากกว่าการเร่งเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เนื่องจากมองว่า จะสามารถช่วยบริหารความมั่งคั่งและรับมือกับความผันผวนได้ดีกว่า

ธนาคารยังสรรหากองทุนมาเสริมทัพการจัดพอร์ตอย่างต่อเนื่อง เช่น Private Equity และกองทุนที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ต โดยธนาคารได้ร่วมมือกับ Pictet Group พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อยกระดับการให้บริการวางแผนการจัดการสินทรัพย์ (Wealth Management) สำหรับลูกค้าที่มีความมั่นคงทางการเงินสูงในไทยให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีความหลากหลาย เป็นการช่วยบริหารจัดการสินทรัพย์ท่ามกลางความผันผวนได้ดีขึ้น

 

“แนวทางการบริหารเงินลงทุนในช่วงนี้ แนะนำว่า ควรลงทุนอย่างระมัดระวัง เน้นการลงทุนเป็นพอร์ตลงทุนระยะยาวที่กระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม"

 

 สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำกลยุทธ์ MIND Strategy” ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ย่อยคือ

  •  Middle way: ลงทุนสายกลางแบบไม่เลือกข้าง ผ่านกองทุนผสมที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี จากการลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ หรือ Multi Asset ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงและโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว
  •  Inflation Protection: แนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวระดับสูงในปีนี้ จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แนะนำปกป้องความเสี่ยงจากเงินเฟ้อผ่านสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันเงินเฟ้อได้ เช่น REITs & Infrastructure
  •  Near Money Asset: ถือสินทรัพย์สภาพคล่องสูงใกล้เคียงเงินสด มีความจำเป็นในการรับมือกับความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนเมื่อตลาดปรับฐาน
  •  Diversification: กระจายความเสี่ยงแบบคัดสรร ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น เพิ่มการลงทุนในทองคำหรือกองทุนทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยง และทยอยสะสมหุ้น Value ที่มี Valuation ไม่แพง และมีศักยภาพในการสร้างกำไรเติบโตที่ดี

แบงก์กรุงเทพชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยง  กดดันพอร์ตนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมปีนี้ถือเป็นปีที่การลงทุนและการบริหารเงินเต็มไปด้วยปัจจัยความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมาก ทั้งปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศสรุปเป็น 4 ประเด็นหลักที่จะเป็นแรงกดดันต่อการบริหารพอร์ตของนักลงทุนคือ

  1. สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ กดดันให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาอาหาร โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มธัญพืช รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบเช่น ปุ๋ยที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลัก ขาดแคลนกดดันให้ราคาปรับพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
  2.  เงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เริ่มกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค หากการบริโภคลดลง ย่อมส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  3. นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยกันอย่างต่อเนื่อง นำโดยสหรัฐฯ ที่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อจัดการเงินเฟ้อ
  4.  ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน จากมาตรการล็อกดาวน์ ตามนโยบาย “Zero-COVID” ของจีน ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนโดยตรง รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจโลก

 

“แม้จะเป็นปีแห่งความท้าทาย และมีปัจจัยกระทบต่อการลงทุนหลายด้าน แต่ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะหนึ่งในผู้นำธุรกิจ Wealth Management เรายังคงยึดมั่นในคุณค่า (Value) หลักของธุรกิจ เพื่อตอกย้ำว่า เราให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับ 1 และพร้อมให้คำปรึกษาด้านวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างใกล้ชิด เหมือนเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมเคียงข้างลูกค้าอยู่เสมอ” นางสาววรพรกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,801 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565