สรรพากรจับมือ 139 ประเทศ OECD เดินหน้ารีดภาษีบริษัทข้ามชาติ

05 พ.ค. 2565 | 10:08 น.

สรรพากร เดินหน้ารีดภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เร่งเจรจา 139 ประเทศสมาชิก OECD หาข้อสรุปภายในปี 66 ก่อนเริ่มบังคับใช้กฎหมายในปี 67 ขณะที่ภาษีหุ้น เผยศึกษารูปแบบเรียบร้อยแล้ว โยน รมว.คลัง และอธิบดีสรรพากรคนใหม่ เคาะช่วงเวลาบังคับใช้ที่เหมาะสม

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทย หรือ ภาษีอีเซอร์วิส

 

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 มีมูลค่าบริการจากต่างชาติสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ใหม่เข้าประเทศได้ถึงกว่า 4,200 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปีตั้งเป้าการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสไว้ที่ 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้กรมสรรพากร ยังอยู่ระหว่างเจรจากับ 139 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development)  หรือ OECD เจรจามาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ ใน 2 ประเด็น คือ

 

เสาที่ 1 (Pillar 1) มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีเงินได้ โดยปันส่วนกำไรมาให้กับประเทศผู้ใช้บริการถึงแม้จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศที่ให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปในปี 2566 และกฎหมายเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 แต่ทั้งนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศสมาชิกด้วย

“เช่น บริษัทที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อปี จะต้องปันกำไรส่วนเกิน 10% ให้กับประเทศผู้ใช้บริการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดสัดส่วนรายได้ที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 25% ขณะที่ประเทศผู้ใช้บริการจะได้เท่าไหร่นั้น ยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุปเช่นกัน ว่าจะใช้วิธีการคำนวณจากจำนวนสมาชิกที่ผู้บริการ หรือ ค่าใช้จ่ายบริการ เป็นต้น” นายเอกนิติ กล่าว

 

และเสาที่ 2 (Pillar 2) มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษี โดยถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จนเสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15%  ทั้งนี้ หากการเจรจาต่างๆ นี้สำเร็จลุล่วงได้ตามแผนในปี 2566 ไทยจะมีแหล่งรายได้ใหม่จากบริษัทข้ามชาติที่เคยหลบเลี่ยงภาษีเพิ่มขึ้นด้วย

 

ขณะที่การจัดเก็บภาษีการซื้อ-ขายหุ้น นั้น อธิบดีกรมสรรพากร ขณะนี้ได้ศึกษาแนวทางไว้เรียบร้อยแล้ว รอให้รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีสรรพากรคนใหม่ เคาะช่วงเวลาในการบังคับใช้ที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาแนวทางการจัดเก็บไว้หลายรูปแบบ โดยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีหุ้นในปีแรกได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวกรมฯ ยังไม่ได้มีการนำมารวมอยู่ในเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในปี 65

 

“โมเดลการจัดเก็บภาษีหุ้นที่ง่ายสุด คือ การยกเลิกการยกเว้น ซึ่งกฎหมายของไทยจะคิดเฉพาะภาษีการขาย โดยเป็นการเก็บทุกสิ้นเดือนเหมือนกับภาษีธุรกิจเฉพาะ ขณะที่บางประเทศจะเก็บทั้งภาษีซื้อและภาษีขาย เช่น มาเลเซีย ที่ล่าสุดก็เพิ่มอัตราการจัดเก็บจาก 0.1% เป็น 0.15% ส่วนจะจัดเก็บ Capital Gain หรือ กำไรจากการขายทรัพย์สินหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษา” นายเอกนิติ กล่าว