จับตาเฟดใช้ยาแรงปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ประชุม FOMC 3-4 พ.ค.นี้

01 พ.ค. 2565 | 01:22 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การประชุม FOMC วันที่ 3-4 พ.ค. นี้ เฟดจะใช้ยาแรงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ และเริ่มปรับลดขนาดงบดุล หนุนเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กดดันเงินบาทอ่อนค่า- ฟันด์โฟลว์ไหลออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในการประชุม FOMC วันที่ 3-4 พ.ค.นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวในระดับสูง โดยเฟดยังคงให้น้ำหนักต่อประเด็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นหลัก ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวสูงขึ้น

 

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค.2565 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 8.5% YoY ซึ่งราคาสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงาน อาหาร และที่อยู่อาศัย ท่ามกลางผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อโลก ส่งผลให้เฟดคงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้อีกร้อยละ 0.50 รวมถึงคงจะต้องเริ่มปรับลดขนาดงบดุลมูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในการประชุม FOMC ครั้งนี้ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ 

 

"การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.50 ถือเป็นยาแรงที่เฟดคงต้องเลือกทำเพื่อยับยั้งวัฏจักรเงินเฟ้อ โดยเฟดคงมีมุมมองว่าหากปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยหรือช้าเกินไปอาจไม่เพียงพอที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับลดลงมาได้ " บทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

                

การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่มีการดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกับเฟดเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกและทิศทางค่าเงินที่อ่อนค่าลง 

จับตาเฟดใช้ยาแรงปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ประชุม FOMC 3-4 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ หากพิจารณาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซีย ประเทศส่วนใหญ่ต่างยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ (Interest rate gap) นั้นแคบลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศ และไปกดดันทิศทางค่าเงินของแต่ละประเทศให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องได้ 

 

ดังนั้น ธนาคารกลางต่างๆ คงเผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในระยะข้างหน้า