กองทุนประกันวินาศภัย เร่งกู้เงิน จ่ายเคลมโควิด-19

05 เม.ย. 2565 | 02:29 น.

กองทุนประกันวินาศภัย เร่งหากู้เงินกว่า 10,000 ล้านบาท จากออมสิน และ กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อจ่ายเคลมประกันโควิด ชี้ปัญหาการกู้คือ ความสามารถในการชำระหนี้ หลังรายรับของกองทุนไม่สอดคล้องกับวงเงินที่ต้องการกู้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า หลังจาก รมว.คลัง ได้เพิกถอนใบอนุญาต บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ไปแล้ว จะมีการโอนภาระหนี้การเคลม และกรมธรรม์ที่ยังมีความคุ้มครอง ให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้บริหารจัดการดูแล

 

โดยปัจจุบัน สถานะกองทุนประกันวินาศภัยมีสภาพคล่อง 5,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมหากู้ยืมเงินเข้ามาเพิ่มเติม จากธนาคารพาณิชย์ และธนาคารออมสิน เพื่อบริหารจ่ายเคลมพี่น้องประชาชนให้เพียงพอ  

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นกองทุนนอกงบประมาณ เตรียมเจรจากับธนาคารออมสิน และกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อขอกู้เงินมาจ่ายให้กับผู้เอาประกันโควิด

 

ส่วนวงเงินกู้จะเป็นเท่าไรยังไม่ชัดเจน แต่คาดจะเป็นหลักหมื่นล้านบาท เนื่องจากขณะนี้มีผู้ยื่นเคลมประกันภัยโควิด โดยเฉพาะแบบ เจอ จ่าย จบ เข้ามาจำนวนมาก

 

ทั้งจากบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด(มหาชน) และบริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ และล่าสุดจากบริษัทอาคเนย์ประกัยภัย และไทยประกันภัย ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีการค้างจ่ายเคลมประกันภัยโควิด รวมกันราว 1.8 หมื่นล้านบาท

 

“ปัญหาของกองทุนประกันวินาศภัย ในการกู้เงิน คือประเด็นความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคต เนื่องจากรายได้ของกองทุน มาจากเงินที่บริษัทประกันภัยจ่ายสมทบเข้ากองทุน ในสัดส่วน 0.25 % ของเบี้ยประกันภัยของแต่ละบริษัท  ซึ่งปีหนึ่งๆจะมีเงินเข้ากองทุนไม่กี่ร้อยล้านบาท ขณะที่กองทุนประกันวินาศภัย มีภาระที่ต้องชำระหนี้เป็นวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท”

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แนวทางการหาแหล่งเงินของกองทุนประกันวินาศภัยเพื่อนำมาใช้จ่ายเคลมลูกค้า 4 บริษัทประกันที่ถูกปิดกิจการไปนั้น จะเป็นหน้าที่ของกองทุนฯ ที่ต้องหาทางกู้เอง โดยคลังไม่ต้องเข้าไปค้ำประกันให้

 

แต่จะต้องดูรายละเอียดในกฎหมายของกองทุนฯเพิ่มว่า จะต้องนำหนี้ที่กู้เข้ามาบรรจุอยู่ในแผนหนี้สาธารณะด้วยหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องนำมาบรรจุในแผนหนี้ฯ เพิ่ม แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อหนี้โดยรวมมากนัก เพราะหากกู้มาหมื่นล้านก็กระทบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ถึง 0.01%

 

สำหรับสถานะการเงินปัจจุบันอาคเนย์ประกันภัยมีสภาพคล่อง 8,340 ล้านบาท หนี้สินจากสำรองประกันภัย และสินไหมค้างจ่าย 1.35 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไทยประกันภัย มีสภาพคล่อง 1,092 ล้านบาท

 

และหนี้สินค้างจากสำรองประกันภัยและสินไหมค้างจ่าย 4.6 พันล้านบาท ขณะที่ยอดกรมธรรม์ทั้ง 2 บริษัท ที่เหลือความคุ้มครองซึ่งเป็นประกันโควิดเจอจ่ายจบ 1.17 ล้านกรมธรรม์  และประกันที่ไม่ใช่โควิด 200 กว่ากรมธรรม์