ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 33.25 บาท/ดอลลาร์

31 มี.ค. 2565 | 01:13 น.

ค่าเงินบาทแนวรับจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอจังหวะเพื่อทยอยแลกเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.15-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.25 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.31 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง หลังจากที่วันก่อนหน้า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึง มุมมองของ กนง. ที่ยังคงมองภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องและมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงไม่มากนัก 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากความไม่แน่นอนของสงครามอาจกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง แต่เชื่อว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะ นักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เราเริ่มเห็นแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติสุทธิกว่า 7 พันล้านบาท ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา สะท้อนว่า แรงขายบอนด์ระยะสั้นซึ่งปกติมักจะสะท้อนภาพการอ่อนค่าของเงินบาท อาจเริ่มลดลงในช่วงนี้ได้ 


ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทแข็งค่าเพื่อทยอยแลกเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.40 บาท/ดอลลาร์


บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดการเงินยังไม่มั่นใจว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้อย่างราบรื่น หลังยังคงมีรายงานการสู้รบในพื้นที่ใกล้เมืองหลวงของยูเครนอยู่

 
ขณะเดียวในผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศษฐกิจถดถอยจากสัญญาณ Inverted Yields Curve ที่เกิดขึ้นในตลาดบอนด์สหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์ระยะสั้นปรับตัวขึ้น สูงกว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาว) ซึ่งสะท้อนภาพว่า ตลาดกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ 


ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ส่งผลให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พลิกกลับมาปรับตัวลง -1.21% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นแรงในวันก่อนหน้า ส่วน ดัชนี S&P500 ก็ย่อตัวลง -0.63% โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมือง ตามการรีบาวด์ขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 


โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เริ่มกลับมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกครั้ง จากรายงานยอดน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ โดย EIA ที่ลดลงกว่า 3.4 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงราว 1 ล้านบาร์เรล


 
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า กลุ่ม OPEC+ จะยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะสั้นได้


ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวลงราว -1.08% เช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจของยูโรโซนก็ปรับตัวลดลงหนัก สะท้อนถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไร หุ้นกลุ่ม Cyclical ที่ปรับตัวขึ้นแรงในวันก่อนหน้า


 
สอดคล้องกับ มุมมองของเรา ที่ยังคงแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากการเจรจาสันติภาพยังมีความไม่แน่นอนอยู่ อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า ธีมการลงทุนระยะยาวที่มีลักษณะเป็น Mega Trend อาทิ การลงทุนในพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) และธุรกิจ EV ก็ยังเป็นธีมการลงทุนที่น่าสนใจในฝั่งยุโรปที่นักลงทุนอาจใช้จังหวะที่หุ้นยุโรปในกลุ่มดังกล่าวปรับฐานลงมา ในการทยอยสะสมการลงทุนในธีมดังกล่าวได้


ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสัญญาณ Inverted Yields Curve (บอนด์ยีลด์ระยะสั้น สูงกว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว) ยังคงกดดันทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 2.35% อย่างไรก็ดี เรามองว่า IYC ที่ตลาดจับตามองผ่านส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี หรือ บอนด์ยีลด์ 5 ปี กับ 30 ปี 


อาจไม่ได้เป็นสัญญาณชี้นำโอกาสกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แม่นยำ เหมือนในอดีต เนื่องจากหลังวิกฤติการเงินปี 2008 บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกต่างอัดฉีดสภาพคล่องมหาศาลเข้าส่ระบบ ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างของตลาดบอนด์ปรับเปลี่ยนไป จึงแนะนำให้จับตา “Near-term Forward Spread” หรือ ส่วนต่างระหว่าง คาดการณ์ 18 เดือนล่วงหน้าของบอนด์ยีลด์ 3 เดือน กับ บอนด์ยีลด์ 3 เดือน ปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด 


ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนคาดหวังว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจไม่ได้เผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซาหนัก หากการเจรจาสันติภาพยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ ส่งผลให้ สกุลเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ปรับตัวแข็งค่าขึ้น กลับมาสู่ระดับ 1.115 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.313 ดอลลาร์ต่อปอนด์ 


อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก และล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 97.80 จุด ทั้งนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นยุโรป ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ 


สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE ว่าจะปรับตัวขึ้นอย่างไร โดยเบื้องต้นตลาดคาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คึกคักมากขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ PCE แตะระดับ 6.4% ในเดือนมีนาคม สร้างแรงกดดันให้ เฟดกังวลปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น และทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม 


ส่วนในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์มองว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอาจยังคงชะลอตัว จากผลกระทบของการระบาดโอมิครอนระลอกใหม่และมาตรการ Zero COVID สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ที่จะปรับตัวลงสู่ระดับ 50 จุด และ 50.6 จุด ตามลำดับ (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ที่ชี้ว่า ภาคการผลิตและการบริการขยายตัวในอัตราชะลอลง ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนอย่างใกล้ชิด เพราะหากเศรษฐกิจจีนซบเซาหนัก ก็อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลกได้


นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุดยังคงมีการสู้รบในพื้นที่ใกล้เมืองหลวงของยูเครน แม้ว่าก่อนหน้า ทางการรัสเซียจะประกาศลดปฎิบัติการทางทหารในพื้นที่รอบเมืองหลวงยูเครนก็ตาม ทำให้การเจรจาระหว่างสองฝ่ายยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ย่อตัวลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของสงครามยูเครน-รัสเซีย หลังจากมีรายงานข่าวว่า โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่า ยังไม่เห็นสัญญาณที่นำไปสู่ข้อตกลงสุดท้ายได้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.15-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE Price Index ข้อมูลรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์