ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า"ที่ระดับ  32.43 บาท/ดอลลาร์

23 ก.พ. 2565 | 01:14 น.

เงินบาท วันนี้ พอจะมีแรงหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวไทย เนื่องจากจะมีการประมูลบอนด์ 20 ปี วงเงินราว 1.7 หมื่นล้านบาท  ที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดได้ทยอยลดสัดส่วนการถือครองบอนด์ระยะยาวลงไปมากแล้ว แต่บอนด์ยีลด์ยังมีความน่าสนใจ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.43 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงเล็กน้อยกระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.40 บาทต่อดอลลาร์ 

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า  แนวโน้มเงินบาทนั้น  มองว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ รวมถึง สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในประเทศไทยที่ยังน่ากังวลอยู่ จะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและอาจอ่อนค่าลงได้จากความเสี่ยงดังกล่าว

 

จึงต้องติดตามแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นนี้ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มเทขายสินทรัพย์ไทย ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคคัลที่ โดยเฉพาะ MACD และ RSI ที่ชี้ว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าในระยะสั้นได้ 

อย่างไรก็ดี เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะหากเกิดสงครามขึ้น ราคาทองคำก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น หนุนให้ผู้เล่นทยอยขายทำกำไร โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เราคงมองว่า เงินบาทยังคงได้รับแรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

 

ส่วนในวันนี้ เงินบาทก็พอจะมีแรงหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวไทย เนื่องจากจะมีการประมูลบอนด์ 20 ปี วงเงินราว 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราคาดว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวไทยได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดได้ทยอยลดสัดส่วนการถือครองบอนด์ระยะยาวลงไปมากแล้ว ขณะที่ระดับของบอนด์ยีลด์ ณ ปัจจุบันก็ถือว่ายังมีความน่าสนใจอยู่


มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.50 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนและอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้อาจบานปลายสู่สงครามได้ หลังจากที่รัสเซียได้ประกาศรับรองเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ และส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าสู่พื้นที่ข้อพิพาทดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ทางวุฒิสภารัสเซียยังมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถใช้กองทัพรัสเซียนอกประเทศได้  ซึ่งการกระทำดังกล่าวของรัสเซียได้ส่งผลให้บรรดาชาติตะวันตกต่างออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม เพื่อกดดันให้รัสเซียกลับเข้าสู่การเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง

 

อาทิ สหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรธนาคาร VEB ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของรัสเซีย และธนาคาร PSB ซึ่งเป็นธนาคารของกองทัพรัสเซีย ทำให้ธนาคารทั้งสองแห่งไม่สามารถทำธุรกรรมในรูปสกุลเงินดอลลาร์ได้ ส่วนเยอรมนีก็มีการประกาศระงับการอนุมัติท่อส่งแก๊สธรรมชาติ Nord Stream 2 ซึ่งจะลดรายได้หลักของรัสเซียจากการขายแก๊สธรรมชาติอย่างมีนัยยะสำคัญ

ความตึงเครียดของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวลดลง นำโดยดัชนี Dowjones -1.42% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลงราว -1.01% ขณะเดียวกัน หุ้นเทคฯ ก็ยังคงเผชิญแรงขายต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงจะกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ย่อตัวลงมาก็ตาม ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.23% 

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงเล็กน้อย -0.01% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เข้ามาซื้อหุ้นที่มีการปรับฐานหนักในวันก่อนหน้า โดยตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มยานยนต์ การเดินทาง และหุ้นเทคฯ อาทิ Volkswagen +7.8%, ASML +2.5%, Airbus +1.7%  

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้จะยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนต่อไปในระยะสั้น และคงแนะนำให้รอจังหวะตลาดปรับฐานหนักในการทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip โดยเฉพาะในกรณีที่มีการรบกันเกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ยังคงผันผวนต่อเนื่อง แม้ว่า สถานการณ์ตลาดการเงินโดยรวมจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ทว่าผู้เล่นบางส่วนมองว่า ปัจจัยสงครามอาจกดดันให้ราคาสินค้าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้เงินเฟ้ออาจเร่งตัวสูงขึ้นและอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด ทำให้ธนาคารกลาง โดยเฉพาะเฟดอาจต้องเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ ส่งผลให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่บอนด์ยีลด์ได้มีการปรับตัวลดลงก่อนหน้า (Sell on Rally)

 

ล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.94% ทั้งนี้ เรามองว่าในระยะสั้นบอนด์ยีลด์ ยังคงมีโอกาสผันผวนและแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าความเสี่ยงสงครามจะคลี่คลายลงได้ ตลาดถึงจะกลับมาให้น้ำหนักทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายเราคาดว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดมากขึ้น จะหนุนให้บอนด์ยีลด์สามารถทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมือเทียบกับสกุลเงินหลัก จากทั้งแรงซื้อดอลลาร์เพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลความเสี่ยงสงครามและแรงหนุนจากรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.5 จุด และ 56.7 จุด ตามลำดับ

 

ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.07 จุด ทั้งนี้ แม้ตลาดจะยังคงเผชิญความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนที่ยังร้อนแรงอยู่ แต่ผู้เล่นบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรทองคำ ทำให้ราคาทองคำย่อตัวลงและแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ประเด็นสำคัญที่ตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงอย่างหนักในระยะสั้นได้ 

ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดประเมินว่า การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ รวมถึงแรงกดดันจากเงินเฟ้อ อาจหนุนให้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 1.00% 

 

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งไทย ตลาดมองว่า ยอดการส่งออกในเดือนมกราคมมีแนวโน้มขยายตัวราว +18%y/y ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังการระบาดโอมิครอนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ดี ยอดการนำเข้าอาจพุ่งขึ้นกว่า +21%y/y จากราคาสินค้าพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคมอาจขาดดุลเล็กน้อย 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบใกล้ๆ ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และยุโรปในประเด็นยูเครน และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนในกรอบอ่อนค่าได้ในระหว่างวัน 
 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.35-32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตามจะอยู่ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนม.ค. ประเด็น/สถานการณ์ในยูเครน ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของยูโรโซน