ดาวโจนส์ปิดร่วง 526 จุด วิตกเงินเฟ้อพุ่งผลักดันเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

11 ก.พ. 2565 | 00:08 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วง 526.47 จุด ในวันพฤหัสบดี (10 ก.พ.) นักลงทุนกังวลดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งเกินคาด จะผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,241.59 จุด ลดลง 526.47 จุด หรือ -1.47%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,504.08 จุด ลดลง 83.10 จุด หรือ -1.81% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,185.64 จุด ลดลง 304.73 จุด หรือ -2.10%
          

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวนตลอดทั้งวัน หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% จากระดับ 7.0% ในเดือนธ.ค.

ตลาดได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่มีสิทธิ์โหวตในปีนี้ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กว่า เขาเปิดกว้างสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และต้องการเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้ 

 

การแสดงความเห็นของนายบูลลาร์ดมีขึ้นไม่นานหลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI เดือนม.ค.เมื่อคืนนี้ตามเวลาไทย

เคธี บอสต์แจนซิค นักวิเคราะห์จากบริษัท Oxford Economics กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นทะลุระดับ 2% ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย
          

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปรับตัวลงทั้งหมด โดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 2.75% และดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริทรัพย์ลดลง 2.86% 

 
ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 223,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 230,000 ราย
          

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว