จับตาธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ย กดดันหุ้นไทยผันผวน

09 ก.พ. 2565 | 04:43 น.

บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยผันผวน กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงกว่าคาด ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกขยับดอกเบี้ยตามเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มแตะระดับหมื่น 3 วันติดต่อกัน ให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ 1,650-1,700 จุด

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นว่า มีโอกาสแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากมีความกังวลว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นและแรงกว่าที่คาดเนื่องจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือนมกราคมที่ประกาศออกมาสูง และคาดการณ์เงินเฟ้อจะพุ่งต่อจากระดับ 7% ในเดือนธันวาคม 64  เป็น 7.2% ในเดือนมกราคม 65 ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยเห็นได้จาก FedWatch Tool ระบุว่า นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 35% ที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมีนาคมนี้จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14%

 

วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS

 

ขณะเดียวกันธนาคารกลางในหลายประเทศได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเฟด เพื่อสกัดเงินเฟ้อเช่นกัน โดยธนาคารกลางอังกฤษ(BoE) ได้นำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อนแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางรัสเซียจะเป็นรายต่อไปที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดคาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 1% สู่ระดับ 9.50% ในการประชุมนโยบายการเงินวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2560 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2
 

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นตัวเลขแตะระดับหลัก 1 หมื่นรายต่อเนื่อง และจำนวนตัวเลขตรวจ ATK เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 4 พันเศษเช่นกัน จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ 1,650-1,700 จุด

 

ส่วนปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2565 คาดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม สหรัฐรายงานตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธันวาคม และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มทยอยออกมา โดยเฉพาะจะมีการเปิดลงทะเบียนคนละครึ่ง เฟส 4 สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยใช้สิทธิ ซึ่งช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบมากขึ้น และทางจีนจะมีการเปิดเผยยอดขายรถเดือนมกราคม FDI เดือนม.ค. ยอดปล่อยกู้ล็อตใหม่รวมทั้งสกุลเงินหยวนเดือนมกราคม  รวมทั้งสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม และความกเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์  

 

ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์ลงทุนในกลุ่มหุ้นคุณค่า (value play) ได้แก่ KBANK, BBL, SCB, EA, GULF, ADVANC, TRUE และ DTAC  รวมทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจำหน่ายชุดตรวจ ATK เพิ่มขึ้น ได้แก่  SMD, WINMED และ TM

 

ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า ยังคงต้องจับตาตัวเลขดัชนี CPI และดัชนีเงินเฟ้อเดือนมกราคมของสหรัฐ ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่ล่าสุดขึ้นแตะระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงคาดการณ์การได้ว่าต้นทุนของผู้ผลิตยังทรงตัวระดับสูงต่อไป อีกทั้งเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับขึ้น หากเงินเฟ้อมีเร่งตัวสูงกว่าครั้งก่อนที่ระดับ 7% เป็นไปได้ว่า Bond Yield อาจกลับขึ้นมากเร่งตัวเหนือ 1.90% และสะท้อนให้เห็นถึงการประชุม FOMCที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม และคาดว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยทีเดียวถึง 0.5% ซึ่งหากเป็นกรณีดังกล่าวอาจทำให้ราคาทองคำมีความผันผวนสูงในสัปดาห์หน้าได้ จึงประเมินว่าในสัปดาห์หน้าหากราคาทองคำรับข่าวเงินเฟ้ออาจแกว่งตัวผันผวนในกรอบ 1,750-1,850 $/oz