ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 33.09 บาท/ดอลลาร์ 

04 ก.พ. 2565 | 01:06 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.09 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways หลังจากที่เงินบาททยอยแข็งค่า ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จนเข้าใกล้แนวรับสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ หากตลาดการเงินกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงได้ (Risk-On) ทว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังว่า เงินบาทอาจผันผวนหนักในช่วงก่อนรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดควรเฝ้าระวังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่หากบานปลายสู่สงครามก็อาจกดดันตลาดการเงินให้กลับมาปิดรับความเสี่ยง และอาจกดดันค่าเงินบาทได้ 

 

ในส่วนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนแนวรับเงินบาทในช่วงนี้ จะอยู่ในช่วง 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าจะรอซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวมากขึ้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.15 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการโดยรวมยังคงผันผวนหนักจากแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดกลับมาเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อีกครั้ง จากความกังวลว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวอาจมีผลประกอบการที่แย่กว่าคาด หลังจากที่บริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta (Facebook) และ Spotfy ประกาศงบการเงินที่ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงถึง -3.74% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลงกว่า -2.44% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดกลับมาคลายกังวลแนวโน้มผลประกอบการหุ้นเทคฯ ในช่วง after-market hour หลัง Amazon, Snap และ Pinterest ประกาศงบการเงินที่ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้ สัญญาฟิวเจอร์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง S&P500 และ Nasdaq ต่างปรับตัวขึ้นไม่น้อยกว่า 1% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวลงกว่า -1.9% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นเทคฯ อาทิ Adyen -8.9%, Infineon Tech. -4.9%, ASML -4.1% หลังทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างเตรียมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยในฝั่ง BOE ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.50% และอาจทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 1.50% ได้ในปีนี้ ส่วน ECB แม้จะยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทว่าท่าทีของประธาน ECB ได้สะท้อนว่า ECB เตรียมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หลังเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ซึ่งแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของ BOE และ ECB ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ฝั่งยุโรป ต่างปรับตัวขึ้นไม่น้อยกว่า 10bps กดดันการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคฯ 

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดการเงินจะปิดรับความเสี่ยงและยังคงผันผวนสูง ทว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี กลับเผชิญแรงกดดันจากท่าทีของทั้ง BOE และ ECB ที่ตรียมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ในฝั่งยุโรปปรับตัวขึ้นกว่า 10bps ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 7bps สู่ระดับ 1.84% 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากแรงกดดันการแข็งค่าของสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.143 ดอลลาร์ต่อยูโร และ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าสู่ระดับ 1.36 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ตามแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทั้ง ECB และ BOE ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 95.38 จุด 

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญการระบาดของโอมิครอนที่หนักพอสมควร โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ตลาดแรงงานยังเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งอาจสะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมกราคมที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนราย ขณะที่อัตราการว่างงาน (Unemployment rate) จะอยู่ที่ระดับ 3.9% ที่น่าสนใจคือ ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) อาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า +5.2%y/y สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯที่มีความตึงตัวมากขึ้น จนทำให้บริษัท/นายจ้างจำเป็นต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงาน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ  เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเนื่องท่ามกลางสัญญาณความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อของ ECB และ BOE ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดย BOE ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 0.50% ขณะที่ ECB ปฎิเสธที่จะกล่าวย้ำสัญญาณที่เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า ECB ไม่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.00-33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และตัวเลขตลาดแรงงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ