อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 32.94 บาท/ดอลลาร์ฯ

26 ม.ค. 2565 | 12:59 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกรอบการเคลื่อนไหวในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ แนะติดตามปัจจัยสำคัญ "สัญญาณและท่าทีคุมเข้มของเฟด ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 "

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 32.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ  เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.06 บาทต่อดลลาร์ฯ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า แม้จะได้รับอานิสงส์จากทิศทางเงินหยวนที่แข็งค่าและสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนอยู่ระหว่างรอติดตามผลการประชุมเฟดในคืนนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 519.38 ล้านบาท และ 4,810 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 10 ล้านบาท ซึ่งทำให้สถานะ ณ สิ้นวันของต่างชาติในตลาดพันธบัตร เป็น NET INFLOW ประมาณ 4,800 ล้านบาท

 

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 26 มกราคม 2565 โดยธปท. อยู่ที่ -0.55 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ 2.17 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณและท่าทีคุมเข้มของเฟด ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือนธ.ค. ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทขยับอ่อนค่ามาอยู่ใกล้ๆ ระดับประมาณ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.96 บาทต่อดลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงหลังการประชุมเฟด ของนายเจอโรม พาวเวลเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด และเฟดน่าจะดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในการลดแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ 
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อสัญญาณและท่าทีคุมเข้มของเฟด ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือนธ.ค. ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์