คลัง ดับฝัน ไม่ลดภาษีที่ดิน ห่วงรายได้ท้องถิ่น

17 ม.ค. 2565 | 03:06 น.

คลัง ดับฝันเอกชน ไม่ลดภาษีที่ดิน ห่วงกระทบการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น หลังรัฐมีงบประมาณจำกัด ชี้ภาษีที่ดินได้ประโยชน์กับกลุ่มคนรวยเป็นหลัก คนจนได้ประโยชน์น้อย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีข้อเสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด ว่า กระทรวงการคลัง จะไม่ขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีกแล้ว หลังจากที่ลดให้ไปแล้ว 2 ปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากการลดภาษีที่ดินแต่ละครั้งทำให้รายได้ของท้องถิ่นในแต่ละปีหายไปถึง 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในปีนี้จึงเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเต็มอัตราที่ 100% คงเดิม 

 

“ปกติในการออกมาตรการช่วยเหลือทางภาษี จะต้องดูเรื่องผลกระทบทั้งด้านรายได้ของรัฐด้วย เพราะหากมีการลดไปอีก รายได้ของท้องถิ่นจะหายไปจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อเงินลงทุน ค่าใช้จ่ายของท้องถิ่นตามมา อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอ การลดภาษีที่ดิน 90% ของ กกร. จะต้องเสนอ และรอถามจากกระทรวงมหาดไทยอีกทางหนึ่งด้วย” 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งจากการที่ลดภาษีที่ดินในช่วงที่ผ่านมา 2 ปี ทำให้รายได้ท้องถิ่นหายไปมากกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลต้องหาเงินไปอุดหนุนชดเชยให้ท้องถิ่นแทน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้าไปอุดหนุนรายได้ให้แค่ปีเดียว ช่วงปี 62/63 เท่านั้น ส่วนปีภาษี 63/64 ไม่ได้ช่วยอุดหนุน เพราะงบประมาณมีจำกัด ดังนั้นจึงเสนอให้มีจัดเก็บภาษีที่ 100% ในปีนี้   

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาการปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินเหลือ 90% ถูกมองว่าเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก เนื่องจากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มเศรษฐีที่ดินที่มีที่ดินว่างเปล่าจำนวนมาก หรือที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลังขึ้นไป ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีที่อยู่อาศัยเพียง 1 หลัง หรือบางส่วนต้องเช่าอาศัยอยู่เท่านั้น จึงไม่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีที่ดิน 

 

โดยในการประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบการคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จัดเก็บในปีภาษี 65-66 โดยให้จัดเก็บในอัตราเดิมที่จัดเก็บในปีภาษี 63-64 ต่อไปอีก 2 ปี เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด และในปีภาษี 67 ให้พิจารณาความเหมาะสมให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

 

สำหรับการคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 63 และ 64 มีสาระสำคัญ ดังนี้ การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.01% – 0.1% การใช้ประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.02% – 0.1% แยกเป็น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.03% – 0.1% สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.02% – 0.1% และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ที่ 0.02% – 0.1%

 

ส่วนการใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการประกอบเกษตรกรรม และอยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ที่ 0.3% – 0.7% ขณะที่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ที่ 0.3% – 0.7%