ก.ล.ต.เล็งปรับเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล

06 ม.ค. 2565 | 12:22 น.

ก.ล.ต.จ่อปรับเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ละประเภทให้เหมาะสม สอดคล้องความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับภาคธุรกิจที่ประสงค์จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2564 มีความคึกคักมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) พบว่า ปี 2564 การเปิดบัญชีและซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดือนตุลาคม 2564 มีบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย 1.77 ล้านบัญชีเพิ่มขึ้น 247% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม 2564 ที่มี 5.2 แสนบัญชีและมูลค่าการซื้อขายเดือนพฤศจิกายน 2564 มีมูลค่า 2.39 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.84% จาก 1.65 แสนล้านบาทในเดือนมีนาคม 2564

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทรัพย์สินที่ราคาผันผวนสูงกว่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ประเภทใหม่ที่คนกำลังให้ความสนใจ และสินทรัพย์ดิจิทัลบางสกุลอาจไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต.

 

ดังนั้นผู้ที่สนใจลงทุนจึงควรศึกษาและเข้าใจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และต้องสามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้  รวมถึงจัดสรรเงินงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอาจสูญเสียเงินลงทุนทั้งก้อนได้

 

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า 90% ของบัญชีที่มีการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เป็นบัญชีของผู้ลงทุนรายย่อยรวมทั้งยังพบการหลอกลวง หรือฉ้อโกงโดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตและความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ก.ล.ต.จึงให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้ซื้อขายเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัล การดูแลรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อควรระวัง เพื่อให้ผู้ซื้อขายสามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งแนะนำให้ใช้บริการผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจ ก.ล.ต.มีการกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีระบบงานที่เหมาะสม เพียงพอ ให้บริการผู้ซื้อขายได้อย่างมีมาตรฐาน ดูแลทรัพย์สินของลูกค้าอย่างปลอดภัย

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ก.ล.ต.ส่งหนังสือเวียนถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติเรื่องการโฆษณาและให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการหรือการตัดสินใจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 

 

“การโฆษณาต้องไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการหรือซื้อขาย ไม่ชี้นำหรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับ และต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม”

 

นอกจากนั้นก.ล.ต.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับภาคธุรกิจที่ประสงค์จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ

 

ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายกับหลักทรัพย์ โดยนำมากำกับดูแลภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายกัน ถูกกำกับดูแลภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัล และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศ

 

ด้านการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจอยู่ระหว่าง ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เทียบเคียงกับธุรกิจหลักทรัพย์ในด้านต่าง ๆ เช่น เงินทุน และ business conduct รวมทั้งยกระดับมาตรฐานหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมุ่งหวังพัฒนาและยกระดับหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมต่อการประกอบธุรกิจและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยง

 

“เรามีแผนจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจของผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนการให้บริการ เพื่อให้ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีความรู้ ความเข้าใจถึงลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย”

 

ส่วนการกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2565 เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตลาดที่มีการเชื่อมโยงกันทั่วโลก ให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมถึง ก.ล.ต. จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น โดยติดตามอย่างใกล้ชิด และทบทวนกรอบกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีการร่วมมือและกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ Decentralized Finance ที่อาจเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน

 

อย่างไรก็ดี การดำเนินการต่าง ๆ จะต้องพิจารณาให้ไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับภาคธุรกิจ สนับสนุนนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของผู้ร่วมตลาด ในขณะเดียวกันต้องให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการหาประโยชน์จากความแตกต่างในการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) ที่อาจจะเกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก IMF ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นจากการที่สินทรัพย์ดิจิทัลอาจเข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม (cryptoization) การที่สินทรัพย์ดิจิทัลมีราคาสูงขึ้นมาก (stretched valuation) มีความผันผวนสูง และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ประกอบกับสินทรัพย์ดิจิทัลและการให้บริการที่เกี่ยวข้องมีลักษณะไร้พรมแดน (cross border) จึงเห็นว่า Financial Stability Board (FSB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามและดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินโลกควรจัดทำแนวทางหรือมาตรฐานกลางในระดับสากล (global framework) 

 

สำหรับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้ 

  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเภทที่สำคัญ เช่น การให้บริการเก็บรักษา รับฝาก และ โอนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการชำระราคา (settlement) เป็นต้น ควรจัดให้มีการขึ้นทะเบียน หรือให้ใบอนุญาต โดยหน่วยงานกำกับดูแลก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ 
  • กฎเกณฑ์กำกับดูแลควรเหมาะสมกับวัตถุประสงค์หลักในการใช้งาน (main use case) ของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น หากเป็นการใช้งานหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน (investment) ควรกำกับดูแลในลักษณะเดียวกับหลักทรัพย์โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลหลักทรัพย์ หรือหากเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน (payment) ควรถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลางหรือหน่วยงานกำกับดูแลบริการชำระเงิน นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันติดตามและดูแลความเสี่ยงจากการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจเปลี่ยนแปลงไปหรือที่มีการใช้งานได้ในหลายลักษณะด้วย
  • ควรกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับจำกัดความเสี่ยง (exposure) ในการเข้าไปถือครองหรือเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล (regulated entity) เช่น สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือบริษัทประกัน เป็นต้น รวมถึงกำหนดให้มีการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (suitability test) ด้วย