อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.675 บาท/ดอลลาร์

22 ธ.ค. 2564 | 00:48 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แนวโน้มผันผวน หาก กนง. ในวันนี้มีมุมมอต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจใหม่จะมีส่วนที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ที่ระดับ 33.675บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”เล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.71 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน แต่เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด

 

เพราะถึงจะมีความกังวลการระบาดของโอมิครอนในประเทศแต่ภาพดังกล่าวก็ได้อยู่ในการประเมินเบื้องต้นของทั้ง กนง. และ นักลงทุนต่างชาติพอสมควร โดยเฉพาะในฝั่งนักลงทุนต่างชาติ ที่ยังไม่ได้เทขายบอนด์ระยะสั้นอย่างรุนแรง

 

สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้คาดหวังว่า สถานการณ์การระบาดจะเลวร้ายมาก จนเงินบาทอ่อนค่าจากระดับปัจจุบันไปมาก ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของ กนง. ในวันนี้ต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจใหม่จะมีส่วนที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ หาก กนง. มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลง ก็อาจเผชิญแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ก่อน แต่ สัญญาณในเชิงเทคนิคัลยังคงสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในระยะสั้น ทำให้เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่ารุนแรง หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยอย่างหนัก ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นที่ต่างรอจังหวะการปรับฐานของสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อเพิ่มสถานะถือครอง (Buy on Dip) หนุนให้ราคาหุ้นโดยรวมต่างรีบาวด์ขึ้น

 

หลังจากที่ย่อตัวลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ นำโดยหุ้นในกลุ่มเทคฯ ส่งผลให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Nasdaq ปิดตลาด +2.40% และดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้น +1.78%

 

เช่นเดียวกันกับฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้นราว +1.65% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นกลุ่ม Cyclical/Reopening theme เช่นกัน ASML +3.6%, Adyen +2.4%, Santander +2.1%

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นที่เริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและเชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพิ่มเติมทำให้บอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1.46% ซึ่งในระยะยาว เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ซึ่งล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทรงตัวใกล้ระดับ 96.49 จุด อนึ่ง แนวโน้มเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideways แต่บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้น ก็กดดันให้ ราคาทองคำ ย่อตัวลง ใกล้ระดับ 1,785 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเราคงมองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อแรงได้ยาก (อาจพอลุ้นการรีบาวด์ได้บ้าง) และ Upsides ของราคาทองคำเริ่มจำกัด

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเรามองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะหนุนให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%

 

ทั้งนี้ กนง. อาจมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น แต่อาจจะเน้นย้ำว่าการเติบโตเศรษฐกิจคือปัจจัยสำคัญที่มีน้ำหนักต่อนโยบายการเงินมากกว่าเงินเฟ้อ

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 33.65-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดช่วงเช้านี้ (22 ธ.ค.) ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

โดยแม้เงินบาทน่าจะปรับตัวในกรอบแคบๆ ระหว่างรอติดตามสัญญาณและมุมมองเกี่ยวกับนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในช่วงบ่ายวันนี้ แต่อาจมีจังหวะการขยับแข็งค่าเล็กน้อย ตามทิศทางของสกุลเงิน/ตลาดหุ้นในเอเชีย ตามบรรยากาศตลาดสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคในการผลักดันมาตรการหนุนเศรษฐกิจวงเงิน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ของปธน. โจ ไบเดน (ซึ่งจะเน้นใช้จ่ายด้านสวัสดิการและแก้ไขปัญหาโลกร้อน) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.55-33.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ปัจจัยติดตามจะอยู่ที่ผลการประชุมกนง. ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และการรับมือกับสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2564 (final) และยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ย.