ดาวโจนส์ปิดบวก 383 จุด หลังเฟดคงดอกเบี้ย-หั่น QE ตามคาด

16 ธ.ค. 2564 | 00:15 น.

ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 383.25 จุดเมื่อคืนนี้ (15 ธ.ค.) หลังเฟดคงดอกเบี้ย-ปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมเมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,927.43 จุด เพิ่มขึ้น 383.25 จุด หรือ +1.08%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,709.85 จุด เพิ่มขึ้น 75.76 จุด หรือ +1.63% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,565.58 จุด เพิ่มขึ้น 327.94 จุด หรือ + 2.15%
          

ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และประกาศว่าจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการ QE เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2565

การปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือนมี.ค. 2565

 

ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย(Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2567

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ตลาดขานรับผลการประชุมเฟดครั้งนี้เนื่องจากไปตามที่คาดการณ์ไว้ และแม้ว่าเฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2565 แต่นักลงทุนมองว่านี่เป็นการส่งสารที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพรวมในอนาคตที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย

 

ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 2.7% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งสุดในบรรดาหุ้นที่คำนวณในดัชนี S&P500 

          
ดัชนีหุ้นกลุ่มธุรกิจเฮลธ์แคร์ปรับตัวขึ้น 2.1% 


ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ได้ถูกส่งให้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
         

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% หลังจากพุ่งขึ้น 1.8% ในเดือนต.ค.
          

ข้อมูลเศรษฐกิจที่นักลงทุนจับตาในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนธ.ค.จากมาร์กิต