อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 33.45 บาท/ดอลลาร์

09 ธ.ค. 2564 | 00:49 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท "แข็งค่า" ขึ้น -เริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาเก็งกำไรฝั่งเงินบาทจากที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งซื้อบอนด์ระยะสั้นสุทธิ  ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตลาดปรับฐานจากความกังวลโอมิครอน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.48 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยหนุนให้ นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ และอาจพอช่วยหนุนให้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น และเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาเก็งกำไรฝั่งเงินบาทแข็งค่าของผู้เล่นต่างชาติ ที่สะท้อนผ่านยอดซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นราว 6.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งซื้อบอนด์ระยะสั้นสุทธิ นับตั้งแต่ตลาดปรับฐานจากความกังวลการระบาดของ โอมิครอน 

นอกจากนี้ หากพิจารณาสัญญาณเชิงเทคนิคัลจะพบว่า เงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ไม่สามารถอ่อนค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ โดยการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาตินั้น เราเชื่อว่าอาจมาจากโฟลว์ขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกในช่วงปลายปีที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมองว่ายังพอมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าบางส่วน ช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทแข็งไปได้เร็ว ยกเว้นว่า นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทหนักขึ้น ซึ่งอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็ว

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น เราประเมินว่า ตลาดค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ ผู้ประกอบการควรเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.50 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง หลังจากผลวิจัยเบื้องต้นจากบริษัท Pfizer และ BioNTech ผู้ผลิตวัคซีน mRNA ได้ระบุว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจาก โอมิครอน ได้ ซึ่งรายงานดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่าการระบาดของ โอมิครอน อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงจนน่ากังวลและวัคซีนที่มีในปัจจุบันยังสามารถรับมือได้ 

นอกจากนี้ ภาวะการเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นต่อราว +0.64% ตามด้วยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.31% ขณะที่ ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็พลิกกลับมาปรับย่อตัวลงราว -1.01% กดดันจากความกังวลว่ารัฐบาลหลายประเทศอาจทยอยใช้นโยบาย Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน และลดความเสี่ยงที่จะเผชิญการระบาดของ โอมิครอน ที่รุนแรงจนกระทบกับระบบสาธารณสุข ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นกลุ่ม Cyclical ต่างย่อตัวลง อาทิ Infineon Tech. -4.3%, Santander -2.5%, Kering -2.4%, ASML -1.7% ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน หลังจากที่ปรับตัวขึ้นรุนแรงในวันก่อนหน้า 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 5 bps แตะระดับ 1.52% ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ (CPI) รวมถึง ผลการประชุมเฟดในสัปดาห์ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองบอนด์อีกครั้ง ซึ่งคาดว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเลือกที่จะรอให้ผ่านช่วงวันหยุดปลายปีนี้ไปก่อน ที่ตลาดการเงินจะมีธุรกรรมเบาบาง และเริ่มกลับมาเทรดเต็มที่หรือปรับสถานะถือครองอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด รวมถึงบรรยากาศตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงต่อ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีความพยายามที่จะรีบาวด์ขึ้น ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 95.89 จุด ส่งผลให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.134 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วน เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 113.7 เยนต่อดอลลาร์ ไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมากนัก เนื่องจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ส่งผลให้ ตลาดลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินเยน กอปรกับ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีการปรับตัวขึ้น ซึ่งก็ช่วยหนุนการอ่อนค่าของเงินเยน นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ทรงตัวใกล้ระดับ 1,785 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าจะถูกแรงกดดันจากการลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยก็ตาม อนึ่ง เรามองว่า upsides ของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัด หลังตลาดมีแนวโน้มเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมและจะเหลือเพียงปัจจัยความกังวลเงินเฟ้อ หรือ แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ที่จะพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ โดยเฉพาะรายงานแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ว่าจะปรับตัวขึ้นในอัตราเร่งขนาดไหนและเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจหนุนให้เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว อาทิ เฟดอาจปรับลดคิวอีเพิ่มขึ้นและสามารถยุติการทำคิวอีได้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤศจิกายน อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 6.7% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ราคาสินค้ากลุ่ม Reopening (อาหารนอกบ้าน, การเดินทาง, ค่าที่พัก, ค่ารถมือ 1 และ มือ 2) ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาบ้านและค่าเช่าที่อาศัยก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ช่วยหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อยังปรับตัวขึ้นต่อได้ ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลการระบาดของ Omicron อาจสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคได้ ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย U of Michigan (Consumer Sentiment) เดือนธันวาคม ที่อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 67 จุด