เบรก! ธปท. ไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ชำระค่าสินค้า-บริการ

01 ธ.ค. 2564 | 12:41 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 19:46 น.

ธปท. ย้ำ ไม่สนับสนุนใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ชำระค่าสินค้าและบริการ เหตุผันผวนสูง เสี่ยงถูกโจรกรรมทางไซเบอร์และใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงิน เผยอยู่ระหว่างหารือ ก.ล.ต. ออกเกณฑ์กำกับ หวังลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นางสาว สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ และขอย้ำว่า ธปท. ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหายในระยะต่อไป หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย

 

“ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม” น.ส.สิริธิดาระบุ

น.ส.สิริธิดา ระบุว่า ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น โดยจะยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

 

ก่อนหน้านี้ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท บิทาซซ่า จำกัด ซึ่งเป็นนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ประกาศความร่วมมือในการนำคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่ร้านกาแฟอินทนิล โดยตั้งแต่ 1 ธ.ค.2564 จำนวน 21 สาขาและจะเพิ่มอีก 100 สาขา ในวันที่ 1 ม.ค.2565 ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจะขยายไปทั่วประเทศภายในไตรมาส 2 รวมทั้งมีแผนจะขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ ของบางจากฯ เช่น ธุรกิจคาร์แคร์ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

วันเดียวกัน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าพบ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ,พล.ต.ต. พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ผบก.ปอศ.) เพื่อหารือถึงแนวทางการประสานงานในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

 

ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้น ทั้ง 2 หน่วยงานได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในกรณีที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อกัน โดยจะเริ่มทำงานเชิงรุกร่วมกันในกรณีที่อาจเข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่การซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมากในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ บช.ก. โดย ปอศ. พร้อมให้การสนับสนุนด้านการติดตามผู้ถูกกล่าวหาที่หลบหนีการกระทำผิดเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ทางก.ล.ต. พร้อมให้ความร่วมมือกับ บช.ก. และยินดีเป็นอย่างยิ่งในการประสานการทำงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้กระบวนการสืบสวนและตรวจสอบมีความรวดเร็วและลดขั้นตอนของกระบวนการสืบหาพยานหลักฐาน อันทำให้การบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

 

พล.ต.ท จิรภพ กล่าวว่า ทางบช.ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะทางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมให้ความร่วมมือและร่วมปฏิบัติงานกับ ก.ล.ต. โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการปฏิบัติงาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีร่วมกัน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพต่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการกระทำผิด ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งรูปแบบของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ล้วนเป็นช่องทางของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน