ธปท. จับตาแรงเหวี่ยง "โอไมครอน" จ่อปรับคาดการณ์ จีดีพี ปี 65

29 พ.ย. 2564 | 08:04 น.

ธปท. จับตา ปัจจัยฉุด เศรษฐกิจไทย จ่อปรับคาดการณ์ จีดีพีไทย ปี 2565 ปลายเดือน ธ.ค. หลัง ไวรัสกลายพันธุ์ "โอไมครอน" ป่วนโลก

29 พ.ย. 2564 - ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน งานเสวนา หัวข้อ : มองเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางโควิด -  Thailand Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดขึ้นโดย หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ 

 

ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญแรงเหวี่ยงใหม่ หลังจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ใหม่ ที่ชื่อว่า " โอไมครอน" ทำให้หลายประเทศ กลับมาสู่การล็อกดาวน์ - ปิดประเทศอีกครั้ง 
 

ซึ่งประเด็นดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หรือ จีดีพี ทั้งของปี 2564 และ ปี 2565 อย่างแน่นอน แม้ก่อนหน้า ธปท. ยังประเมินภาพเป็นบวก จากแนวโน้มการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และการไหลกลับของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีทิศทางดี ประเมิน เศรษฐกิจไทยในปี 2565 นั้น ดีสุด จีดีพี อาจโตได้แตะเลข 5 ด้วยซ้ำ จากที่ประเมินไว้ 3.9% ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 10 ล้านคน 

ธปท. จับตาแรงเหวี่ยง \"โอไมครอน\" จ่อปรับคาดการณ์ จีดีพี ปี 65

ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงใหม่ "โอไมครอน" คาดน่าจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวข้างต้น กังวลอาจมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ไม่ถึง 6 ล้านคน ซึ่งปลายเดือน ธันวาคมนี้ ธปท. จะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้ง โดยนำปัจจัย โอไมครอน มาพิจารณาร่วมด้วย หลังจากคาดว่า จะทำให้หลายประเทศหันมาปิดประเทศอีกครั้ง 


"ไวรัสโอไมครอน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร? เบื้องต้น ยังประเมินไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่จำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ต้องดูมาตรการรับมือของแต่ละประเทศด้วย เช่น การกลับมาปิดประเทศ - ล็อคดาวน์อีกครั้ง ทำให้ไทยเองมีความกังวล เนื่องจากจีดีพีปีนี้ โตได้จากภาคส่งออกเท่านั้น แต่หากปีหน้า การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น  อาจกระทบทั้งภาคการท่องเที่ยวและส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้ปีหน้า เผชิญสถานการณ์เลวร้ายสุด ธปท.วาง Scenario มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแค่ 1-2 ล้านคน จนส่งผลต่อเศรษฐกิจแย่มาก แต่พบระบบธนาคารพาณิชย์ยังมั่นคง แข็งแกร่ง ไม่ล้มง่ายๆ" 


ดร.ดอน ยังระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้านั้น มาจากที่่ผ่านมา ประเทศไทย มีการพึ่งพาเศรษฐกิจ ซึ่งผลักดันจากภาคท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ราว 20%ต่อจีดีพี ทำให้เกิดความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา เพราะภาคการท่องเที่ยว เปรียบเหมือนน้ำ ทำให้ลอยและจมได้ในเวลาเดียวกัน หากนักท่องเที่ยวหายไป ประเมิน เศรษฐกิจไทยอาจใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัวกลับมา และภาครัฐจำเป็นต้องหา นิวเอสเคิร์ฟ หรือ ตัวผลักดันเศรษฐกิจใหม่ๆ ในระยะยาว นอกเหนือ จากการท่องเที่ยว เช่น การให้ความสำคัญกับการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตและศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต