เคาะแล้ว! ใช้บัตรประชาชน แทน “บัตรคนจน” รอบใหม่

19 พ.ย. 2564 | 12:05 น.
อัพเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2564 | 19:23 น.

“สันติ” เคาะใช้บัตรประชาชน แทน “บัตรสวัสดิการรัฐ” ที่จะเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ พร้อมสั่ง สศค. เร่งพิจารณาวงเงินรายได้ครอบครัวที่จะนำมาใช้คำนวณรับสัทธิ เบื้องต้นไม่เกิน 200,000 บาท กำชับทุกฝ่ายเร่งทำงาน หวังมอบให้เป็นของขวัญประชาชนปีใหม่นี้

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ว่า ในการใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่นั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบเอนกประสงค์แบบใหม่ หรือสมาร์ทการ์ด แทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ให้รอบคอบอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ตรงจุดมากที่สุด  โดยเบื้องต้นได้กำหนดเกณฑ์รายได้ของครอบครัวที่จะนำมาคำนวณสิทธิ คือ ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี จากเดิมที่ใช้เพียงรายได้ส่วนบุคคลไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

 

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยยกตัวอย่างการคำนวณรายได้ครอบครัว คือ สามี มีรายได้ 150,000 บาท ภรรยามีรายได้ 50,000 บาท เมื่อนำมารวมกันแล้วจะเท่ากับ 200,000 บาทต่อปี ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ แต่หากครอบครัวนั้นมีลูกอายุต่ำกว่า 18 ปี 1 คน เมื่อนำรายได้ของสามีและภรรยามารวมกัน คือ 200,000 บาท แล้วหารด้วย 3 คน คือ พ่อ แม่ ลูก จะทำให้เหลือรายได้ตกคนละ 66,666 บาทต่อปี จะถือว่าภรรยาเข้าเกณฑ์เป็นผู้รับสิทธิบัตรคนจน ขณะที่สามีหรือพ่อจะถือว่ารายได้เกินเกณฑ์แต่เริ่มแรก และลูกซึ่งยังอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงถือว่าทั้ง 2 คน ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิ

 

“เรามีความตั้งใจอยากให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งที่ประชุมได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปตรวจสอบหลักเกณฑ์ และข้อจำกัดต่างๆ ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้วมาหารือร่วมกันอีกครั้ง หากได้ข้อสรุปจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วที่สุด” นายสันติ กล่าว

ขณะที่คุณสมบัติผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดิม คือ เป็นผู้มีสัญชาติไทย  อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์  มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตร ตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท

 

ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย ถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดิน จะต้องมีบ้านหรือทาวเฮ้าส์ พื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา ส่วนห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร ส่วนกรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร จะต้องมีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่