อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า" ที่ระดับ 32.76 บาท/ดอลลาร์

17 พ.ย. 2564 | 00:31 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวต้านจะอยู่ในโซน 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-32.85 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.76 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.67 บาทต่อดอลลาร์
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์เล่นรอบเก็งกำไรทองคำ (ที่คราวนี้จะกลับข้างเป็นฝั่งรอซื้อทองคำเพื่อลุ้นการรีบาวด์กลับไปแนวต้านแถว 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์) แต่ทว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเข้ามาเก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ผ่านการซื้อบอนด์ระยะสั้น 
 

นอกจากนี้ ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วทำให้ผู้ส่งออกบางรายยังคงรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ซึ่งเราคาดว่า ผู้ส่งออกที่มีความจำเป็นต้องแลกเงิน อาจทยอยขายเงินดอลลาร์ เมื่อเห็นเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งทำให้ แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซนแถว 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์  
 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-32.85 บาท/ดอลลาร์
 

ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุด ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม ปรับตัวสูงขึ้นกว่า +1.7% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ภาคการผลิตสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนตุลาคมก็ขยายตัวกว่า +1.6% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน ทำให้ในฝั่งสหรัฐฯ ทั้งดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.39% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.76% 
 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.35% ทำจุดสูงสุดใหม่ All Time High หนุนโดยผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงแรงหนุนจากจากการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) ซึ่งจะส่งผลดีต่อหุ้นของบริษัทที่มียอดขายนอกยุโรปเป็นสัดส่วนสำคัญ อาทิ กลุ่มสินค้าแฟชั่น Kering +4.4%, Adidas +1.5%, Louis Vuitton +1.2% เป็นต้น  
 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่ง รวมถึงความกังวลแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อ ได้ร่วมกันหนุนให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อ 3bps สู่ระดับ 1.64%
 

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางรายยังมีส่วนกดดันตลาดบอนด์ หลังจากที่ ประธานเฟดสาขา St. Louis James Bullard (มีสิทธิ์ในการโหวตนโยบายการเงินในปี 2022) มองว่า เฟดควรใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น ซึ่ง Bullard มองว่า การลดคิวอีสามารถเร่งขึ้นได้ จนอาจยุติในเดือนมีนาคมปีหน้า จากนั้น เฟดก็สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกับการลดงบดุล (Balance Sheet reduction) ได้เช่นกัน 
 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้นหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 95.91 จุด สูงที่สุดในรอบ 1 ปี โดยเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมองว่าเฟดอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจก็ยังคงแข็งแกร่ง

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินในฟากยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่ถูกกดันจาก แนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในฝั่งยุโรป ที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอและทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าเฟด ส่งผลให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.132 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) 
 

แนวโน้มนโยบายการเงินเฟดที่มีโอกาสเข้มงวดได้เร็วและมากกว่าฝั่งญี่ปุ่น ได้ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 2ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นกว้างมากขึ้น หนุนให้ เงินเยนอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 115 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปี 
 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาปัญหาเงินเฟ้อในฝั่งยุโรป โดยหากรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของอังกฤษในเดือนตุลาคมพุ่งขึ้นสูงกว่า 3.9% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จะหนุนให้ตลาดกลับมาเชื่อว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ หากยอดค้าปลีกอังกฤษที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ สามารถโตกว่า +0.8% จากเดือนก่อนหน้าได้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยเร็วของ BOE และอาจหนุนให้เงินปอนด์ (GBP) กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง พร้อมกับบอนด์ยีลด์ฝั่งอังกฤษที่อาจปรับตัวสูงขึ้น
 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าติดตามจนถึงช่วงสิ้นปีสำหรับฝั่งยุโรป คือ สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID ซึ่งเริ่มส่งผลให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาด โดยสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปพลิกกลับมาชะลอลงมากกว่าคาดได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้ สกุลเงินในฝั่งยุโรปยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่ามาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากตัวเลขยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.70-32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ