อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 33.83 บาท/ดอลลาร์

06 ต.ค. 2564 | 00:26 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจ “อ่อนค่า”ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงานโดย ADP ออกมาดีกว่าคาด

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.83 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.76 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.90 บาท/ดอลลาร์ แนะจับตาความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงานโดย ADP ออกมาดีกว่าคาด เนื่องจาก ตลาดจะประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ ก็อาจจะออกมาดีกว่าคาดเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจพอได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทองคำ ทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวม เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้น เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน และมีโอกาสที่สามารถกลับไปทดสอบแนวต้านที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ จนกว่าที่ ตลาดการเงินโดยรวมจะกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึง ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ไม่ว่าจะปัญหาน้ำท่วม หรือ โอกาสเกิดการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ได้คลี่คลายลง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยมากขึ้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.90 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 61.9 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่า กิจกรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการอาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง  ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้ช่วยคลายความกังวลปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด

 

นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดยังได้กลับเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มเทคฯ หลังจากที่หุ้นเทคฯ ต่างปรับฐานหนักในช่วงที่ผ่านมา หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นมา +1.25% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.05% อย่างไรก็ดี เรามองว่า การรีบาวด์ของหุ้นเทคฯ หรือ หุ้นสไตล์ Growth ยังมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานอยู่ เนื่องจากแนวโน้มบอนด์ยีลด์ยังเป็นขาขึ้น (บอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นเทคฯ มี Valuation ที่แพง หรืออาจมองหุ้นเทคฯ/Growth คล้ายกับตราสารหนี้ระยะยาว ที่ราคาจะผันผวนหนักจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์)

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 รีบาวด์ขึ้น +1.73% เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ หนุนโดยแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มเทคฯ ส่งผลให้หุ้นเทคฯ ยอดฮิตของฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้น อาทิ Infineon Tech. +4.6%, ASML +4.1%, Adyen +4.1% ส่วนหุ้นในกลุ่มพลังงาน ยังช่วยพยุงดัชนีต่อเนื่อง หลังราคาสินค้าพลังงาน ทั้งแก๊สธรรมชาติ รวมถึง น้ำมันดิบต่างปรับตัวขึ้นราว +5.5% และ +1.2% ตามลำดับ หนุนให้ TotalEnergies +3.0%, Eni +1.8%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ การทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของผู้เล่นในตลาด หลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้ดี  ท่ามกลางความกังวลปัญหาแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +4bps สู่ระดับ 1.53% ซึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มทยอยออกมาดีขึ้น โดยเฉพาะรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) ในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะช่วยหนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดต่อไป

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้ามาเก็งกำไรเงินดอลลาร์ ในช่วงก่อนประกาศข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ในวันพุธ ซึ่งอาจบอกทิศทางของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.98 จุด

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งสามารถเป็นข้อมูลสะท้อนถึงทิศทางของ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ได้ โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานโดย ADP จะเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง ในเดือนกันยายน ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่า การจ้างงานมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังสถานการณ์การระบาดในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นและหลายธุรกิจทยอยกลับมาดำเนินการตามปกติได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ ควรจับตาความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ จากการประกาศยอดน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งหากยอดน้ำมันดิบคงคลังลดลงต่อเนื่อง มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อาจจะยิ่งทำให้ตลาดประเมินภาพการขาดแคลนพลังงานและหนุนให้ ราคาน้ำมันดิบรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์พลังงานอื่นๆ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.50% ตามธนาคารกลางเกาหลีใต้ หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในนิวซีแลนด์ดีขึ้นและเศรษฐกิจก็ทยอยฟื้นตัวได้ดี โดยแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ RBNZ อาจช่วยหนุนให้ ค่าเงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์ (NZD) แข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินออสเตรเลียดอลลาร์ ( AUD) หลัง RBA ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.10%

 

และนอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจ ตลาดจะยังคงจับตาการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งควรจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่รัฐบาลสหรัฐฯจะผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 33.80-33.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ โดยอยู่ที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ 9.00 น. อ่อนค่าลงเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

โดยเงินบาทกลับมาปรับตัวอยู่ในกรอบที่อ่อนค่ากว่าแนว 33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินเอเชียหลายสกุล ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น โดยมีแรงหนุนจากดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดในเดือนก.ย.  และบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่กลับมายืนเหนือแนว 1.50% ได้อีกครั้ง

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.60-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ และตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย.จาก ADP ของสหรัฐฯ