YLG แนะติดตามเฟดลดคิวอี กดดันราคาทองคำร่วง

09 ก.ย. 2564 | 08:45 น.

YLG เผยราคาทองคำยังแกว่งตัวระยะสั้น พักฐานระยะกลาง และระยะยาวมีสัญญาณดี ชี้ต้องติดตามทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟด มองราคาทองคำเคลื่อนไหวที่ 1,775-1,833 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด(YLG) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังแกว่งตัวในระยะสั้น และพักฐานในระยะกลาง แต่ในระยะยาวสัญญาณยังดูดี จากปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวขึ้นลงสลับกันไป โดยปัจจัยหลักคือรอติดตามทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะมีการปรับลดวงเงินการทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ภายในปีนี้หรือไม่ 

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2556 ที่เฟดประกาศลดการทำมาตรการคิวอี ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงถึง 28% ซึ่งจะมีจุดที่น่าสนใจ คือ ราคาทองคำจะตอบสนองในเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดมากที่สุดในช่วงก่อนที่จะดำเนินจริง, ราคาทองคำยังปรับตัวลงต่อในช่วงที่เฟดเริ่มลดคิวอีครั้งแรกไปจนถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก แต่การตอบสนองเชิงลบไม่มากเท่าระยะแรก และราคามีการปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดในเดือนที่เฟดเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก และราคาทองคำเริ่มยกฐานขึ้นนับตั้งแต่เฟดเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2558

ทั้งนี้ หากเฟดมีการปรับลดวงเงินคิวอีในปีนี้ มองว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำที่แตกต่างไปจากปี2556 เนื่องจากปัจจุบันราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวไปตามนโยบายเฟดอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยที่มากขึ้น ซึ่งหากเฟดจะประกาศลดวงเงินคิวอี แต่ปริมาณเงินมหาศาลที่ทั้งธนาคารกลางและรัฐบาลสหรัฐอัดฉีดเข้าไปในระบบจะยังไม่หายไปทันที ส่งผลให้การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในกรอบจำกัด

 

ขณะเดียวกัน ความต้องการทองคำที่เริ่มฟื้นตัวจากจีนและอินเดีย ซึ่งจีนเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอินเดียเองเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการทองคำกลับมาอยู่ในระดับสูง, อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนยังคงเข้าซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนระยะสั้น ระยะกลางยังสามารถทำกำไรตามรอบ โดยในระยะสั้นมองแนวรับสำคัญที่ 1,775-1,773 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือบาทละ 27,500.บาทส่วนแนวต้านระยะสั้นอยู่ที่ 1,809 - 1,814 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,833 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์