อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์

07 ก.ย. 2564 | 00:29 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ Sideways เหตุผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศ ที่อาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.50 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.45 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศ ที่อาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุด เริ่มเห็นการทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นทั้งหุ้นและบอนด์

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดโดยรวมจะรอคอยผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป เนื่องจากจะเป็นการประชุมที่อาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดคิวอีและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ ทำให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ หรือ ยูโร จะยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

 

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ตลาดการเงินไทยอาจได้รับข่าวดีเป็นปัจจัยหนุนบ้าง หลังจากที่ IMF ได้แจกจ่ายเงินช่วยเหลือบรรดาประเทศสมาชิก วงเงินรวมกันกว่า 650 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งประเทศไทยจะได้รับเงินดังกล่าวราว 4.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 1.3 แสนล้านบาท ผ่านสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights) ซึ่งต้องติดตามว่า ทางรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีแนวทางการใช้เงินดังกล่าวจาก IMF เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและกอบกู้วิกฤติการระบาดอย่างไร

 

ทั้งนี้ถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.40-32.55 บาท/ดอลลาร์

 

บรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังว่า บรรดาธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด หรือ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะไม่รีบปรับถอนการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วเกินไป เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังคงมีอยู่ ซึ่งล่าสุดก็สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาดมาก

นอกจากนี้ในฝั่งเอเชีย ทางด้านตลาดญี่ปุ่นก็ยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ว่าที่นายกฯ คนใหม่อาจเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นจากสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินการ

 

ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น ได้หนุนให้ในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +1.05% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ASML +2.7%, SAP +1.6% หุ้นสินค้าแบรนด์เนม Louis Vuitton +2.2%, Kering +1.6%

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เนื่องจากวันก่อนหน้าเป็นวันหยุดวันแรงงานสหรัฐฯ ทำให้ เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 92.19 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้ หากตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อเป็นสินทรัพย์หลบความผันผวนในตลาด (Safe Haven) ลดลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโรได้ หากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในการประชุม ECB วันพฤหัสฯ นี้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า บรรดานักวิเคราะห์รวมถึงนักลงทุนสถาบันอาจจะยังคงกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเศรษฐกิจเยอรมนี จากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Survey) เดือนกันยายน อาจปรับลดลงเหลือ 30.5 จุด จากราว 40 จุด ในเดือนก่อนหน้า

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านการรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า โดยตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาการระบาดระลอกใหม่ทั่วโลกจะกดดันให้ภาคการค้าของจีนขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยยอดการส่งออก (Exports) เดือนสิงหาคม อาจโตเพียง +17%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะขยายตัวราว +27%y/y และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ

 

ตลาดประเมินว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในโซนเอเชียจะทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ อาทิ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ย (Cash Rate) ที่ระดับ 0.10% พร้อมกับคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 3 ปี ที่ 0.10% เช่นกัน

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททรงตัว ขณะที่ตลาดรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันนี้ หลังจากหยุดเนื่องในวันแรงงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.35-32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยที่ต้องติดตามยังอยู่ที่สถานการณ์โควิดและทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ประเด็นทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค. ของจีน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของยูโรโซน ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย