อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.25 บาท/ดอลลาร์

24 ส.ค. 2564 | 00:26 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทการแข็งค่าอาจชะลอลงเมื่อใกล้ระดับแนวรับสำคัญใกล้โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มการระบาดในไทยที่ดูเหมือนจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว อาจจะช่วยหนุนให้แข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.25 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุ แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์การระบาดทั่วโลก ที่กดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน แนวโน้มการระบาดในไทยที่ดูเหมือนจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว อาจจะช่วยหนุนให้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น

 

การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะชะลอลงเมื่อใกล้กับระดับแนวรับสำคัญใกล้ โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบราคาที่ฝั่งผู้นำเข้าต่างรอทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์ โดยเราคาดว่าจะทยอยเห็นโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากต่ำกว่าระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว

 

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หากการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกกลับไม่ได้ดีขึ้นจริง รวมถึงแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของเฟด ซึ่งเรามองว่าประเด็นเฟดทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดคิวอี อาจส่งผลต่อการจัดพอร์ตของนักลงทุน ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยลดการลงทุนในภูมิภาค EM Asia ชั่วคราว เนื่องจากอาจกลัวผลกระทบจากการประกาศปรับลดคิวอีของเฟดจะเหมือนเหตุการณ์ QE Taper Tantrum ในปี 2013

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.35 บาท/ดอลลาร์

 

 

 

บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยผู้เล่นในตลาดการเงินทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลัง FDA สหรัฐฯ อนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech อย่างเต็มรูปแบบ โดยการอนุมัติดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนในสหรัฐฯ ออกมารับวัคซีนกันมากขึ้นและจะช่วยหนุนให้ทั่วโลกมีความมั่นใจในการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวช่วยหนุนให้ตลาดคลาย ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ สินทรัพย์ในธีม Reopening & Cyclical plays ทั้งหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยยอดนิยมในช่วงที่ผ่านมา อย่าง เงินดอลลาร์กลับปรับตัวลดลง

 

ความหวังในการฟื้นตัวตัวของเศรษฐกิจได้หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวสูงขึ้น โดย ดัชนี S&P500 ปิดบวกกว่า +0.85% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี Downjones ที่ปรับตัวขึ้นราว +0.61% นอกจากนี้ หุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +1.55% หลัง บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในระดับต่ำใกล้ 1.26%  เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอคอยความชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอีของเฟดในงานประชุมวิชาการประจำปี ที่ Jackson Hole ในช่วงปลายสัปดาห์ และ +0.11% ตามลำดับ

 

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดหุ้นยุโรปก็ได้รับอานิสงส์จากข่าวการอนุมัติใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech อย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน โดย ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้น +0.7% หลังจากที่ปรับฐานหนักในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการปรับตัวขึ้นของดัชนีนั้นหนุนโดยหุ้นในกลุ่ม Cyclical

 

อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Kerings +3.0%, Louis Vuitton +2.7% กลุ่มพลังงาน Eni และ TotalEnergies +1.7% รวมถึง หุ้นกลุ่มการเงิน Santander +1.5%, BNP Paribas +1.2% ส่วนหุ้นในกลุ่มเทคฯ อย่าง Adyen +3.1%, ASML +2.0% ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นจากแนวโน้มผลกำไรแข็งแกร่งและแรงหนุนจากบอนด์ยีลด์ที่อยู่ในระดับต่ำ

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทกำไรสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากความต้องการหลุมหลบภัยความผันผวนในตลาด (Safe Haven asset)

 

โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 93.00 จุด หนุนให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.174 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.372 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากข่าวอนุมัติวัคซีน Pfizer ได้ช่วยหนุนให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ต่างปรับตัวขึ้นกว่า 5% สู่ระดับ 68.3 และ 65.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกลับมากดดันให้ตลาดเข้าสู่สภาวะปิดรับความเสี่ยงอีกครั้งได้ ทั้งนี้ เรามองว่า สถานการณ์การระบาดในฝั่งประเทศขนาดใหญ่ อาจไม่ได้เลวร้ายไปมากนักจากปัจจุบัน หลังทางการจีนกลับมาควบคุมสถานการณ์การระบาดได้สำเร็จจากการปูพรมตรวจและคุมเข้มมาตรการ Lockdown

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาดในสหรัฐฯ ก็มีความหวังที่จะคลี่คลายลงหากประชาชนทยอยเข้าไปรับวัคซีนมากขึ้น หลังการอนุมัติใช้งานเต็มรูปแบบของวัคซีน Pfizer ซึ่งอาจตามมาด้วยการอนุมัติใช้งานวัคซีนประสิทธิภาพสูงอื่นๆ อย่าง Moderna

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ  เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปอยู่ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.00 น.) เทียบกับระดับปิดของวันทำการก่อนหน้าที่ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ   โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากการที่ตลาดเริ่มชะลอกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการเตรียมลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ของเฟด หลังจากที่ข้อมูล PMI สหรัฐฯ เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ออกมาดีน้อยกว่าคาด ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน และนักลงทุนรอติดตามสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จากที่ประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล อย่างใกล้ชิด เพื่อจับสัญญาณเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินอีกครั้ง
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.00-33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดในประเทศ และการรายงานยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ