อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาด “ทรงตัว”ที่ระดับ 32.94บาท/ดอลลาร์

03 ส.ค. 2564 | 00:58 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ยังมองไม่เห็นโอกาสที่จะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และจุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.94 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในขณะที่เงินดอลลาร์โดยรวมมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ดังนั้นเราจึงยังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

ทั้งนี้ ในระยะสั้น หากตลาดคลายกังวล ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ ไปมาก

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.00 บาท/ดอลลาร์


 

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกังวลว่าปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในสหรัฐฯ อาจกดดันให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง สอดคล้องกับ รายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM manufacturing PMI) ในเดือนกรกฎาคม ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 59.5 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และสะท้อนถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ซึ่งภาพความกังวลดังกล่าว ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ ต่างทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลดลงราว -0.28% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาด -0.19% ในขณะที่ หุ้นเทคฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ เดินหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.18% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.06%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ยังคงสามารถก็ปรับตัวขึ้น +0.67% โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Adidas +3.68%, Kering +2.42%, Louis Vuitton +1.94%, L’ Oreal +1.76%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากปัญหาการระบาดของเดลต้า ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาทยอยซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4bps สู่ระดับ 1.18% อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 1.50% ได้ ณ สิ้นปี จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเราคาดว่า เฟดอาจส่งสัญญาณทยอยลดการทำคิวอีได้ ในช่วงการประชุม FOMC เดือนกันยายน หลังล่าสุด เจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Christopher Waller  ระบุว่า พร้อมสนับสนุนการทยอยลดคิวอี หากยอดการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอีก 2 เดือนข้างหน้า

 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง ทว่า เงินดอลลาร์โดยรวมยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนในช่วงที่ปัญหาการระบาดของ COVID-19 อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ หลังเริ่มพบการระบาดในสหรัฐฯและจีนมากขึ้น ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังทรงตัวใกล้ระดับ 92.05 จุด

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ และ จีน หลังทั้งสองภูมิภาคมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งภาคการบริการชะลอตัวลงในระยะสั้นได้ หากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในโซนเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น กดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการคุม yields curve

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 32.94-32.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ (3 ส.ค.) ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในระหว่างวัน นอกจากนี้บรรยากาศตลาดสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินในฝั่งเอเชียก็น่าจะเผชิญแรงกดดันจากข้อมูล ISM ภาคการผลิตในสหรัฐฯ และ PMI ภาคการผลิตของจีนล่าสุด ที่สะท้อนสัญญาณการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.85-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยวันนี้ที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย และตัวเลขยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ