เปิด 3 แนวทาง พัฒนาสินค้า OTOP .. ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

14 ก.ค. 2564 | 05:53 น.

เปิด 3 แนวทาง พัฒนาสินค้า OTOP ... สร้างรายได้ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน : คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย นภสินธุ์ ปิยะสินธ์ชาติ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

หากติดตาม โซเชียลมีเดีย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงจะได้เห็นไวรัลโพสต์บน Facebook ของสตาร์บัคส์ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกเมนูน่ารับประทานภายใต้แคมเปญ “47 JIMOTO Frappuccino” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเมนูปั่นจำหน่ายใน 47 จังหวัด จังหวัดละ 1 เมนู โดยแต่ละเมนูจะมีเอกลักษณ์ที่แสดงถึงท้องถิ่นนั้น เช่น เมนูแอปเปิ้ลของจังหวัดอาโอโมริ หรือเมนูข้าวโพดของจังหวัดฮอกไกโด

 

จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความสำคัญกับการชูเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ซึ่งแคมเปญดังกล่าวไม่ใช่แคมเปญแรกที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

 

รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีโครงการ “ฟุรุซาโตะโนเซ” เป็นระบบบริจาคเงินเพื่อช่วยสนับสนุนท้องถิ่น นอกจากจะช่วยท้องถิ่นต่าง ๆ แล้ว ผู้บริจาคยังได้ของสมนาคุณ ตอบแทน พร้อมทั้งนำเงินบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ซึ่งวิธีดังกล่าวช่วยให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักของที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่นั้น ๆ และเป็นการกระจายรายได้เพิ่มเติมด้วย

 

เมื่อย้อนกลับมาประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า แต่ละจังหวัดมีเอกลักษณ์ของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ในแต่ละท้องถิ่นที่หลากหลาย สะท้อนได้จาก สถิติสินค้าจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 137 รายการใน 76 จังหวัด ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นผักและผลไม้

 

จังหวัดที่มีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา เชียงราย ศรีสะเกษ สกลนคร และเชียงใหม่ ทำให้เกิดสินค้าในชุมชนต่างๆ จนเป็นโครงการที่ต่อยอดถึงปัจจุบัน คือ “โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป (OTOP)” มีอยู่กว่า 9 หมื่นราย มีจำนวนผลิตภัณฑ์ 1.8 แสนประเภท และสร้างรายได้ให้กับชุมชน 1.9 แสนล้านบาทต่อปี

 

ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน โครงการเหล่านี้ ได้มีการทำแคมเปญเพื่อโปรโมทสินค้าท้องถิ่นตลอดมา โดยผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ และยังมีนโยบายกระตุ้นการซื้อสินค้าของรัฐจากภาคเอกชนผ่านการทำแพลตฟอร์ม อย่าง 7-11 ที่มีการสะสมแสตมป์เป็นรูปของดีในแต่ละจังหวัด

 

แต่เมื่อมองสถานการณ์สินค้าไทยในท้องถิ่น ข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชน พบว่า สินค้าโอทอป กว่า 40% ของโครงการโอทอปทั้งหมดที่ยังไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลหรือแข่งขันในตลาดได้ และหากเปรียบเทียบยอดจำหน่ายสินค้าโอทอปกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2561 ก็คิดเป็นเพียง 1.2% เท่านั้น

 

จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่า สินค้าท้องถิ่นของไทย ยังมีโอกาสและศักยภาพที่จะเติบโตและสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค บทความนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics จึงได้ทำการวิเคราะห์อุปสรรคของสินค้าโอทอปไทย รวมไปถึงแนวทางการสนับสนุนต่าง ๆ ดังนี้

 

1.การตลาดและช่องทางการจำหน่าย  เห็นได้ว่า ปัจจุบัน สินค้าแม้จะมีอยู่มากมายทั่วประเทศ แต่ผู้บริโภคกลับไม่สามารถเข้าถึงสินค้าหรือทราบถึงช่องทางการจำหน่ายได้มากเท่าที่ควร ซึ่งนอกจากผู้ผลิตท้องถิ่นจะสร้างช่องทางหรือทำการตลาดด้วยตัวเองแล้ว ภาครัฐและเอกชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นให้มากขึ้น

 

ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะมีโครงการอบรมหรือให้ความรู้ด้านการตลาดทั้ง online และ offline แก่ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่บ้าง แต่ยังต้องการกระบวนการติดตาม ดูแล หรือ coaching ที่ต่อเนื่องและเป็นระบบ

 

ภาครัฐยังสามารถใช้แพลตฟอร์มอย่าง แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 35 ล้านคน ในการทำโครงการร่วมกับท้องถิ่นเพื่อโปรโมทสินค้า หรือรับสิทธิ์ลดราคาพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยตรง

 

หรือร่วมมือกับ Influencer ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด เพราะในปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าแต่ละจังหวัดมีสินค้าใดที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นนั้น ๆ บ้าง

 

2.สินค้าไม่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และการตั้งราคาที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุน จากข้อมูลสินค้าจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่กล่าวไว้ข้างต้น หรือข้อมูลของประเภทสินค้าโอทอป พบว่า สินค้าท้องถิ่นของไทยมีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยอยู่ในหมวดอาหารมากถึง 80%

 

สินค้าในหลายพื้นที่ยังขาดจุดเด่นและเรื่องราว ทั้งที่สินค้าคุณภาพดี  การโปรโมทผลิตภัณฑ์ด้วยการสร้างจุดเด่นทั้งในส่วนของคุณภาพ เรื่องราวความเป็นมา (story) หรือแม้กระทั่งหีบห่อผลิตภัณฑ์นั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรใช้ข้อได้เปรียบจากความหลากหลายและเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยมีอยู่ให้เป็นประโยชน์

 

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าสินค้าในท้องถิ่นหลายพื้นที่ยังไม่ได้ควบคุมดูแลต้นทุน และราคาขายให้สอดคล้องเพื่อให้แข่งขันให้ท้องตลาดได้ ทำให้ประสบปัญหาทางการเงิน รวมไปถึงยังคงมีอุปสรรคด้านแหล่งเงินทุน การวางแผนระบบการเงินและบัญชี  รวมไปถึงความรู้เรื่องต้นทุนและจุดคุ้มทุน เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่สามารถเสริมความแข็งแกร่งได้

 

3. ด้านการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ผู้ประกอบการในท้องถิ่นหลายราย ยังขาดพันธมิตรธุรกิจทั้งในด้านการผลิตและจัดจำหน่าย (upstream / downstream) ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นการจัดกระบวนการให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้พบกัน สร้างระบบธุรกิจพี่เลี้ยง (incubation)   หรือการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเพื่อเชื่อมต่อไปยังกลุ่มลูกค้า โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน

 

 เช่น ให้ร้านอาหารที่มีสาขาทั่วประเทศออกเมนูและใช้วัตถุดิบที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละจังหวัด เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดนั้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจเอกชนที่สนับสนุนสินค้าท้องถิ่น ซึ่งนอกจากประชาชนจะทราบจุดเด่นของจังหวัดนั้น ๆ แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวไปในจังหวัดต่าง ๆ ได้อีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาหรือส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศเติบโต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากร่วมกันผลักดันสินค้าโอทอปไทยให้ถูกช่องทางมีเรื่องราว สินค้ามีคุณภาพ ราคาแข่งขันได้ และผู้บริโภคมีความพอใจสูงขึ้น สินค้าเหล่านี้ย่อมจะสามารถสร้างรายได้ให้กับแต่ละพื้นที่ได้อีกมหาศาล และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างแน่นอน