ฟันทีพีไอโพลีนรุกเหมืองหินปูน กพร.ส่งฟ้องศาลทำผิดกฎหมายเรียกค่าเสียหาย 6.3 พันล้าน

29 เม.ย. 2559 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กพร. ส่งฟ้องศาลดำเนินคดีแพ่งและอาญากับ ทีพีไอ โพลีน เหตุทำเหมืองหินปูน โดยไม่ได้รับอนุญาต และทำผิดซ้ำซากทั้งที่มีคดีเก่าอยู่ พร้อมเรียกค่าเสียหายให้รัฐรวมกว่า 6.3 พันล้านบาท ส่วนการขอต่อใบอนุญาตประกอบการโรงถลุงแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราฯ ที่พิจิตร ต้องรอตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ไม่ยืนยันว่าจะทันใบอนุญาตหมดอายุวันที่ 13 พ.ค.นี้หรือไม่

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนตรวจสอบพบว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีการทำเหมืองหินปูน ออกนอกเขตพื้นที่ประทานบัตร โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 กพร. ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายกับบริษัท ตามคดีแพ่งที่ 776/2558 ของศาลจังหวัดสระบุรี กรณีลักลอบทำเหมืองในพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัท คิดเป็นค่าเสียหาย ประมาณ 4.338 พันล้านบาท

โดยจากการตรวจสอบในปี 2558 พบว่า ทางบริษัทยังคงมีการกระทำความผิดซ้ำในพื้นที่คำขอประทานบัตรเดิม และทำเหมืองในเขตพื้นที่ห้ามทำเหมือง (Buffer Zone) ในเขตประทานบัตรของบริษัทจึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาเพิ่มอีก 1 คดี และดำเนินคดีทางแพ่งเพิ่ม 2 คดี คือคดีแพ่งที่ 287/2559 กรณีบริษัททำเหมืองซ้ำในพื้นที่คำขอประทานบัตรเดิมอีก คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 327.6 ล้านบาท และคดีแพ่งที่ 288/2559 กรณีทำเหมืองในเขตพื้นที่ห้ามทำเหมือง (Buffer Zone) ในเขตประทานบัตรของบริษัทคิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 1.671 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ล่าสุดกพร. ได้มีการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับบริษัทรวม 5 คดี โดยคดีอาญา จำนวน 2 คดี อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน เพื่อเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ ส่วนคดีแพ่ง จำนวน 3 คดี ได้มีการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกับบริษัท คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 6.337 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นศาล ที่จะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยให้ศาลเป็นผู้ตัดสินต่อไป

นายชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการประมวลผลข้อเท็จจริงและผลการตรวจสอบประกอบการพิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน รวมทั้งจะนำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแลแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มาประกอบการพิจารณาด้วย ดังนั้น จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า การพิจารณาต่อใบอนุญาตจะทันในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้หรือไม่ โดยทางกพร.ยืนยันว่า ไม่ได้มีการดึงเรื่องหรือให้เกิดความล่าช้า แต่การดำเนินงานจะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ พิจารณาจากข้อมูลในหลายๆ ส่วนนำมาประกอบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ จากการลงทุนพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของเหมืองแร่ทองคำ ในจังหวัดพิจิตรนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้มีการตรวจสอบพบระบบประปาในพื้นที่มีค่าแมงกานีสและเหล็กเกินมาตรฐาน 10 จุด จาก 49 จุด ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นไปแล้ว

ส่วนการตรวจติดตามคุณภาพนํ้าต่างๆ จากบ่อสังเกตการณ์ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนักและไซยาไนด์ออกนอกพื้นที่เหมืองแร่ แต่ยังมีข้อสงสัยบางจุด ที่จะต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป รวมถึงผลการตรวจสอบพืชและผักพบว่า มีโลหะหนักในพืชบางชนิด แต่ส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559