ทรัพย์สินเท่าไหร่ควรทำพินัยกรรม

16 มี.ค. 2564 | 06:55 น.

การจัดทำพินัยกรรม ถือเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินจะถูกส่งต่อหรือถ่ายโอนไปยังบุคคลที่ต้องการให้อย่างแท้จริง

 

เมื่อพูดถึงการทำพินัยกรรม หลายท่านอาจคิดว่า เป็นเรื่องของคนรวย มีทรัพย์สินจำนวนมาก อีกทั้งยังรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ความคิดเหล่านี้ถือเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราทุกคนต่างทยอยสะสมทรัพย์สินของตัวเองอยู่แล้วระหว่างการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน พินัยกรรมจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทุกคนและทุกช่วงวัย เพราะเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ อาทิ การเกิดอุบัติเหตุ หรือโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงถึงขั้นชีวิต เมื่อเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ อาจส่งผลให้สินทรัพย์ต่างๆ ไม่ได้ตกไปเป็นของคนที่เป็นเจ้าของทรัพย์ต้องการจะให้จริงๆ รวมถึงปัญหาลูกหลานไม่ทราบว่ามีทรัพย์สินอะไรและอยู่ที่ไหนบ้าง ทำให้ทรัพย์สินบางอย่างอาจตกหล่นไปเป็นของบุคคลอื่น นอกจากต้องสูญเสียทรัพย์สินให้คนอื่นแล้ว ยังอาจจะต้องสูญเสียความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวอีกด้วย เพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวข้างต้น จึงควรศึกษาและจัดทำพินัยกรรมไว้แต่เนิ่นๆ

ในเรื่องของจำนวนทรัพย์สิน ไม่ว่าจะมีจำนวนมากหรือจำนวนน้อย แต่ถ้าอยากส่งมรดกให้ตรงใจกับผู้ที่ต้องการให้จริงๆ แม้ว่าจะมีทรัพย์สินเพียงชิ้นเดียว ก็ควรจัดทำพินัยกรรม เพราะหากไม่ได้จัดทำพินัยกรรม ทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะถูกแบ่งตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การจัดทำพินัยกรรม ถือเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินจะถูกส่งต่อหรือถ่ายโอนไปยังบุคคลที่ต้องการให้อย่างแท้จริง โดยผู้ที่ทำพินัยกรรมได้ต้องมีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป และศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ โดยวิธีการจัดพินัยกรรม มี 5 แบบ คือ

 

1.พินัยกรรมแบบธรรมดา เป็นพินัยกรรมที่สามารถพิมพ์ขึ้นมาได้ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองการทำพินัยกรรมอย่างน้อย 2 คน และพยานต้องไม่มีส่วนได้เสียหรือไม่เป็นผู้รับมรดกในพินัยกรรมนั้นๆ

2.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ เป็นการเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือคุณเองทั้งฉบับ ลงวัน เดือน ปีที่ทำ พร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย (ไม่จำเป็นต้องมีพยาน)

3.พินัยกรรมแบบฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตให้เป็นผู้จัดทำให้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมพร้อมพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อแล้ว จากนั้น เจ้าพนักงานจะลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ที่ทำ พร้อมประทับตราประจำตำแหน่ง

4.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมเขียนหรือพิมพ์เอง หรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ พร้อมลงลายมือชื่อในพินัยกรรม จากนั้นใส่ซองปิดผนึก และลงลายมือชื่อตรงรอยผนึกนั้น พร้อมทั้งนำพยาน 2 คน ไปให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเพื่อบันทึกไว้บนซองเอกสารนั้น

5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา เป็นการทำพินัยกรรมในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เช่น มีอุบัติเหตุร้ายแรงและใกล้เสียชีวิต โดยผู้ทำพินัยกรรมแจ้งข้อความด้วยวาจา จากนั้นพยาน 2 คน รีบไปแจ้งวันเดือนปีและข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต 

พินัยกรรมแต่ละแบบ มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการทำที่แตกต่างกัน รวมถึงถ้าหากทรัพย์สินและหนี้สินมีความซับซ้อนสูง ก็ควรปรึกษานักกฎหมายเพื่อจัดทำทะเบียนทรัพย์สินและพินัยกรรมที่มีความถูกต้องและมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่าความจำเป็นในการทำพินัยกรรมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินแต่เป็นความสะสวดในการแบ่งมรดกและเพื่อให้การแบ่งมรดกเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเจ้าของทรัพย์นั้นเอง

โดย : วรรณภรณ์ สินาเจริญ นักวางแผนการเงิน CFP®  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

บทความย้อนหลัง

จัดการมรดกแบบไร้พินัยกรรม

ทำอย่างไรหากคนรักจากไปแบบไร้พินัยกรรม