ก.ล.ต. ลงดาบ ซีอีโอ SVI อินไซด์หุ้น ฟันแพ่ง 38 ล้าน

02 ก.พ. 2564 | 10:03 น.

ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง "พงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ-นนทิยา พลวัฒน์"กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น SVI ปรับ 38.33 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ระบุว่า ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 นายพงษ์ศักดิ์  โล่ห์ทองคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการของบริษัท เอส วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ของ SVI ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ 

 

นายพงษ์ศักดิ์ได้ร่วมกับนางสาวนนทิยา  พลวัฒน์ ซื้อหุ้น SVI โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท Eagle Mount Asia Equities Limited จำนวนรวม 23,951,000 หุ้น ระหว่าง วันที่ 25 มิถุนายน ถึง 17 กรกฎาคม 2561  ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 เวลา 19.27 น. 

พงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ

 

การกระทำของนายพงษ์ศักดิ์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 มาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

 

การกระทำของนางสาวนนทิยาเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

 

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง(ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายพงษ์ศักดิ์ โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด คิดเป็นเงินรวม 37,638,583 บาท

 

และนางสาวนนทิยา ให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด คิดเป็นเงินรวม 691,671 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 2 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ โดยในส่วนของนายพงษ์ศักดิ์ เป็นเวลา 12 เดือน และนางสาวนนทิยา เป็นเวลา 8 เดือน 

 

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดทั้ง 2 รายไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ