‘เสือโหย’ สบช่องสูบเลือด โขก "ดอกเบี้ย" ซอฟต์โลน 36% ต่อปี

12 พ.ค. 2563 | 02:30 น.

ซอฟต์โลน 80,000 ล้านออมสินป่วน พบนอนแบงก์โขกดอกเบี้ยโหด แม้รับต้นทุนมาเพียง 2%  ยอมรับทำอะไรไม่ได้ เหตุยังตํ่ากว่ากฎหมายกำหนด ระบุเป็นความผิดพลาดของนโยบายที่ไม่ไปคุมปลายทาง ส่งผลลูกค้าต้องรับต้นทุนไม่ต่างจากช่วงปกติ

เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าพิเศษหรือ ซอฟต์โลน ธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท กำลังสร้างปัญหาให้กับลูกค้าทั่วไปไม่ต่างจากซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะวงเงินที่ธนาคารออมสิน จัดสรรให้กับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เพราะลูกค้าของนอนแบงก์ที่ได้รับติดต่อยังถูกเสนอดอกเบี้ยในอัตราที่สูง แม้ว่าจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก

แต่เดือนที่ 4-12 จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือนหรือ 12% ต่อปี ส่วนปีที่ 2 คิดดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน หรือ 24% ต่อปี และปีที่ 3 คิด 3% ต่อเดือน หรือ 36% ต่อปี ซึ่งยังสูงเหมือนในช่วงปกติ ทั้งที่นโยบายดังกล่าวต้องการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ในวงเงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ธนาคารออมสินได้จัดสรรวงเงินไปหมดแล้ว โดย 55,000 ล้านบาท จัดสรรให้กับธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าต่อในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% และอีก 80,000 ล้านบาทจัดสรรให้กับนอนแบงก์ ในอัตราดอกเบี้ย 2%  ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะกำหนดไว้ไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด (ตามงบการเงิน ณ สิ้นปี 2562) แต่ต้องไม่เกินยอดคงค้างของลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 5,000 ล้านบาท และอีก 15,000 ล้านบาท ธนาคารออมสินปล่อยกู้เองในอัตรา 2% โดยให้ธุรกิจท่องเที่ยว 10,000 ล้านบาทและลูกค้าทั่วไป 5,000 ล้านบาท

 

หมดทางคุมดอกเบี้ย

แหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน ระบุว่า คณะกรรมการธนาคารออมสิน (บอร์ด) ได้อนุมัติซอฟต์โลนให้นอนแบงก์แล้ว 107 ราย รายละไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ทั่วถึง เพราะหากให้เต็มเพดานไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อแต่ละแห่ง จะไปกระจุกตัวที่รายใหญ่  แต่ออมสินไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมเพดานดอกเบี้ยของนอนแบงก์ได้ เพราะตามเพดานกฎหมายที่กำหนด นอนแบงก์สามารถปล่อยได้สูงสุดถึง 28% ทั้งที่ได้รับดอกเบี้ยจากออมสินเพียง 2% เท่านั้น 

 

“จะไปบอกว่านอนแบงก์ทำผิดก็ไม่ได้ และเราเองก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะเขายังปล่อยตํ่ากว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของการกำหนดนโยบาย ที่เรามาคุมที่ต้นทาง แต่ไม่ไปควบคุมที่ปลายทาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือ แต่กลับพบว่า ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงไม่ต่างจากช่วงปกติ ทั้งที่จริง แม้เราจะปล่อยซอฟต์โลนที่ 5-7% แล้วกำหนดให้ปล่อยไม่เกิน 15% นอนแบงก์ก็ยังเอา”

 

อย่างไรก็ตาม นอนแบงก์ที่จะได้รับจัดสรรซอฟต์โลน จะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สูงกว่ามาตรการกลางที่ธปท.กำหนดก่อน ไม่ว่าจะเป็นลดดอกเบี้ยจากเพดานที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 28% เหลือไม่เกิน 22% ลดวงเงินผ่อนชำระต่องวด สำหรับบัตรเครดิตจากที่ธปท.กำหนด 10% เหลือ 5% และลดเงินผ่อนชำระต่องวดสินเชื่อส่วนบุคคลจากที่ธปท.กำหนด 5% เหลือ 3% 

 

ทั้งนี้มติครม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เห็นชอบโครงการซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อโควิด โดยกระทรวงการคลังมอบหมายให้ธนาคารออมสินเร่งดำเนินการสนับสนุนซอฟต์โลนวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบภายในวงเงิน 135,000 ล้านบาท

 

และครม.มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ให้ลดวงเงินที่จัดสรรให้ธนาคารพาณิชย์เหลือเพียง 55,000 ล้านบาท เพื่อให้นำเงินไปจัดสรรให้ผู้ประกอบการนอนแบงก์ 80,000 ล้านบาท เพื่อผู้ประกอบการ มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยตํ่าไปสนับสนุนการผ่อนปรนการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อย ทั้งที่เป็นสินเชี่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลีสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อทะเบียนรถตามมาตรการธปท.  ส่วนที่เหลือ 15,000 ล้านบาทให้ธนาคารออมสิน สามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการได้โดยตรง


‘เสือโหย’ สบช่องสูบเลือด  โขก "ดอกเบี้ย" ซอฟต์โลน 36% ต่อปี

MTC รับมา 5,000 ล.

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด(มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  บริษัทได้รับอนุมัติวงเงินซอฟต์โลนจากที่ประชุมบอร์ดออมสินรอบแรกที่ผ่านมา โดยได้วงเงินซอฟต์โลนมา 5,000 ล้านบาท โดยพิจารณาจากสัดส่วน 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และบอร์ดออมสินจะประชุมรอบที่ 2 ในวันที่ 9 พฤษภาคม และรอบที่ 3 ครั้งสุดท้ายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563  จากนั้นจึงจะได้รับซอฟต์โลนตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้

 

ปัจจุบันบริษัทได้ทยอยปล่อยสินเชื่อไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท ตามเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อกับลูกค้ารายย่อย ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่อปีไม่เกิน 22%  ระยะเวลากู้ 2 ปี โดยตามแผนคาดว่า จะสามารถจัดสรรให้กับลูกค้าได้ครบจำนวนภายใน 3 เดือนคือช่วง เมษายน, พฤษภาคม และ มิถุนายน 2563 เพราะได้ติดต่อลูกค้ามาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อถึงเวลาได้รับเงิน สามารถขอกู้ซอฟต์โลนได้เลย

 

“เงื่อนไขที่ MTC ได้รับซอฟต์โลนจากออมสินนั้น เข้าใจว่า มีการดีลกันเป็นรายบริษัท ซึ่งมีทั้งบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเกณฑ์ในการพิจารณาแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน ซึ่ง MTC เรากู้แบบ Clean lone ไม่จำเป็นต้องมีผู้คํ้าประกัน เพราะมีอันดับเครดิต BBB+”

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 1.8% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 1.00% ซึ่งเป็นผลจากมาตรฐานบัญชี TFRS9

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563