แนะถือยาวหุ้นพลังงาน   

16 เม.ย. 2563 | 04:30 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

พิษโควิด-19 ฉุดยอดใช้นํ้ามันวูบ ทุบราคาร่วงตาม สวนทางราคาหุ้นปรับขึ้นคึกคัก โบรกฯคาดผลประกอบการกลุ่มพลังงาน ไตรมาสแรกปี 2563 พลิกขาดทุน 25,200 ล้านบาท หลังแบกต้นทุนปริมาณนํ้ามันในสต๊อกสูง ค่าเงินผันผวน แนะลงทุนระยะยาว เข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่เพียงหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความต้องการใช้นํ้ามันที่ลดลง ทำให้ราคานํ้ามันดิบโลกปรับลดลงตามไปด้วยและยังมีประเด็นการแข่งขันด้านราคา และการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามัน (โอเปก) และพันธมิตร ที่ล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในการประชุมฉุกเฉินรอบ 2 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ให้ปรับลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 10% ของปริมาณการผลิตนํ้ามันดิบทั่วโลก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

นอกจากนั้นยังมีประเทศอื่นๆ ที่จะร่วมปรับลดกำลังการผลิตลงที่ระดับ 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยตลาดคาดว่าการปรับลดกำลังการผลิตทั่วโลกครั้งนี้จะอยู่ที่ 19-20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับความต้องการใช้นํ้ามันที่ลดลงราว 30% หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยราคานํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัส ปิดวันที่ 13 เมษายน 2563 ที่ 22.41 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.93 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากวันที่ 31 มีนาคม 2563 ปิดที่ 20.48 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ตั้งแต่วันที่ 1-13 เมษายน 2563 เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม

นายบุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า คาดความต้องการใช้นํ้ามันดิบจะลดลง 10-20 ล้านบาร์เรล ต่อวัน หรือ 10-20% ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 โดยที่คาดการณ์ความต้องการใช้นํ้ามันในปีนี้จะลดลงประมาณ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 5% ขณะที่การผลิตนํ้ามันดิบขึ้นมา 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเป็นหลัก

แนะถือยาวหุ้นพลังงาน   

นอกจากนี้ ปัญหาแหล่งจัดเก็บนํ้ามันเริ่มไม่มีที่ว่างเหลือให้เก็บนํ้ามัน ส่งผลต่อโรงกลั่นขนาดกลางและเล็กอาจจะปิดแบบถาวร ด้วยเหตุผลที่ค่าเดินเครื่องใหม่ของโรงกลั่นมีต้นทุนที่สูงกว่าสร้างใหม่ โดยที่การผลิตจะเติบโตไม่ทันความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ที่กลับมาจากการผ่อนคลายของวิกฤติโควิด-19 โดยมองว่า ราคานํ้ามันดิบมีโอกาสสูงที่จะขึ้นมาอย่างเข้มแข็งกว่าที่คาดในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อไตรมาส 4 ปี 2563

บล.ทิสโก้ จำกัด คาดว่ากลุ่มพลังงานจะรายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกปี 2563 พลิกเป็นขาดทุน 25,200 ล้านบาท ทั้งจากผลขาดทุนจากสต๊อกและค่าเงิน ขณะที่ราคานํ้ามันดิบดูไบลดลงกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเกือบ 3 บาท นับ จากไตรมาส 4 ปี 2562 ส่วนกลุ่มโรงกลั่นจะได้รับผลกระทบสูงสุดในไตรมาสแรก จากผลขาดทุนจากสต๊อก, ค่าเงิน และอัตรากำไรที่อ่อนแอ โดยบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) จะมีผลขาดทุนสูงสุดในกลุ่ม เนื่องจากปริมาณสต๊อกที่สูง, การดำเนินงานที่ตํ่า และพรีเมียมของนํ้ามันดิบที่ลดลง 1.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การดำเนินงานหลักจะดีขึ้นตามฤดูกาล จากค่าใช้จ่ายที่ลดลง และคาดว่าผลประกอบการจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 2 จากผลขาดทุนในสต๊อกที่หายไป

 

ด้านบล.เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่าการปรับลดการผลิตนํ้ามันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตนํ้ามันทั้งในและนอกโอเปกรอบนี้ มีมุมมองเป็นบวก เนื่องจากตกลงร่วมมือตัดลดการผลิตกันได้ ทำให้สงครามราคานํ้ามันจบลง จะมีผลจำกัด Downside ราคานํ้ามันดิบโลกไม่ให้ปรับฐานลงไปแรง แต่ยังให้นํ้าหนักที่ต้องติดตามในอนาคตว่า ประเทศโอเปกพลัส จะปฏิบัติตามข้อตกลงได้หรือไม่ โดยการลงทุนในระยะยาว ยังแนะนำหาจังหวะเข้าลงทุนราคาหุ้นอ่อนตัวคือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) 

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3566 วันที่ 16-18 เมษายน 2563