ธุรกิจจับจังหวะ ล็อกต้นทุน ลุยออกบอนด์

10 พ.ย. 2562 | 08:34 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สมาคมตราสารหนี้ไทย เผยปี 2563 ...ปรับเกณฑ์ปกป้องนักลงทุน หวั่นกระทบเอกชนออกตราสารหนี้ระยะยาวชะลอลง ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้ เอกชนส่วนใหญ่ต่างฉวยจังหวะล็อกต้นทุน เหตุออกหุ้นกู้น่าสนใจกว่ากู้สินเชื่อแบงก์ ด้านโบรกฯ มองเงินไม่โยกเข้าหุ้น ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรยังสูงกว่า

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ไม่มีผลกระทบต่อการออกตราสารหนี้ระยะยาวของเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2562 โดยเฉพาะบริษัทที่มีแผนจะออกหุ้นกู้อยู่แล้ว ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าการออกตราสารหนี้ของเอกชนจะลดลง จากการปรับเกณฑ์ต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) ที่เริ่มทยอยประกาศออกมาเพื่อช่วยปกป้องนักลงทุน

ทั้งนี้การออกตราสารหนี้ของเอกชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจเป็นหลัก อีกทั้งเมื่อเทียบกับการกู้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แล้ว การออกตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจมากกว่า เพราะสามารถล็อกต้นทุนในระยะยาวได้ ขณะที่ ดอกเบี้ยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ธุรกิจจับจังหวะ ล็อกต้นทุน  ลุยออกบอนด์

 

 


 

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีการออกตราสารหนี้ในระดับสูง คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความต้องการใช้เงินระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนมาก, กลุ่มไฟแนนซ์ มีความต้องการเงินเพื่อใช้ในการปล่อยกู้สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งระยะเวลาการออกตราสารหนี้กับปล่อยสินเชื่อจะสอดคล้องกันในช่วงประมาณ 3 ปี และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่นับการออกตราสารหนี้เป็นกองทุน

ในปีหน้าการออกหุ้นกู้ของเอกชนอาจจะชะลอลงบ้าง ซึ่งในปีหน้าหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย โดยยังคงต้องติดตามการปรับเกณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยปกป้องนักลงทุนของก... โดยเฉพาะเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อนักลงทุนรายใหญ่ เนื่องจากส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่ออกมาแบบเจาะจงให้นักลงทุนเฉพาะกลุ่มจะต้องมีความระมัดระวังจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องติดตามว่าก...จะออกเกณฑ์อย่างไร และมีผลอย่างไรบ้าง

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การลงทุนปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่านั้น มองว่าไม่ได้ทำให้นักลงทุนย้ายเงินลงทุนจากตราสารหนี้มาเข้าซื้อในตลาดหุ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนในตราสารหนี้ทั่วโลกปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 8% สูงกว่าผลตอบแทนในหุ้นไทยที่อยู่ที่ประมาณ 3-4%

ที่เห็นว่าปัจจุบันมีการขายในพันธบัตรนั้น มาจากราคาอยู่ในระดับค่อนข้างสูง จึงทำให้มีการขายเพื่อทำกำไรออกมา นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงมองว่าตราสารหนี้เป็นแหล่งปลอดภัยของการลงทุน โดยเฉพาะจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน

ขณะที่ การออกตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีจำนวนมากนั้น มองว่าเป็นการออกเพื่อรีไฟแนนซ์ เนื่องจากปัจจุบันบจ.ส่วนใหญ่ไม่มีความต้องการขยายการลงทุนแต่เมื่อเทียบกับอดีตยังถือว่าน้อยกว่า

บล.เอเซียพลัสฯ ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะกดดันให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ลดลง แต่ไม่มากนัก ในทางตรงกันข้ามมีโอกาสที่เม็ดเงินจะโยกเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นเริ่มมากขึ้น หลังสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำย่อตัวลงมาตํ่ากว่า 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนการลงทุนจากตลาดหุ้นกับตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันอยู่ที่ 4.73% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก อาจจะขึ้นไปแตะระดับ 5% ได้ จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากตราสารหนี้ เข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562

ธุรกิจจับจังหวะ ล็อกต้นทุน  ลุยออกบอนด์