ทุนไทย กระจุก  บริษัทใหญ่  กวาดรายรับ85%

07 ต.ค. 2562 | 07:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผลศึกษาวิชาการ ธปท. “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้บริษัทใหญ่ 5% กินแชร์ 85% ของรายรับทั้งหมด เผยมีเพียง 6% ของบริษัทส่งออกทั้งหมดแต่มีมูลค่า 70% ของ จีดีพี ขณะที่อุตสาหกรรมของบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงสุด 5% เกาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง และร้านอาหาร

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยประจําปี 2562 “พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขันCompetitive Thailand ระบุในตอนหนึ่งว่า กุญแจสําคัญที่สร้างแรงจูงใจให้เราก้าวข้ามขีดจํากัดของทรัพยากร ขีดจํากัดทางเทคโนโลยีและผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ครั้งแล้วครั้งเล่าคือการแข่งขันเพราะการแข่งขันเป็นกลไกสําคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องพัฒนาความสามารถของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม นําไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ตํ่าลง คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม

ทุนไทย กระจุก  บริษัทใหญ่  กวาดรายรับ85%

วิรไท สันติประภพ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้กําหนด นโยบายและผู้เขียนกฎกติกาสําหรับการแข่งขัน ภาครัฐมีบทบาทสําคัญยิ่งในการส่งเสริมและออกแบบการแข่งขันที่จะทําให้ผลิตภาพและศักยภาพของประเทศพัฒนาได้ต่อเนื่อง

และหนึ่งในผลงานวิจัยของธปท.ที่สอดรับกับบริบทของประเทศไทยคือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจตลาดและการตัดสินใจของบริษัท เรื่องไม่แข่ง ยิ่งแพ้: อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพของธุรกิจโดยคณะผู้ศึกษาประกอบด้วยนายทศพล อภัยทาน  นายชานนทร์ บันเทิงหรรษา นายอาชว์ ปรีณวัฒน และนายกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ซึ่งใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ผ่าน 3 ฐานข้อมูลคือ ข้อมูลงบการเงิน รายบริษัท ข้อมูลผู้ถือหุ้นระดับบริษัทและผู้ถือหุ้น และข้อมูลการส่งออกรายใบขน ซึ่งได้ศึกษา สร้างและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดและบริษัทจำกัดกว่า 7.5 แสนราย ระหว่างปี 2549-2559 ซึ่งผลศึกษาชี้ประเด็นสำคัญใน 6 ประเด็นคือ 1.ภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวสูง 2.การวัดอำนาจตลาด 3.อุตสาหกรรมใดที่บริษัทมีอำนาจตลาดสูงสุด 4.แนวโน้มของอำนาจตลาดของภาคธุรกิจไทย 5.ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอำนาจตลาด และ 6.อำนาจตลาดมีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร

ทุนไทย กระจุก  บริษัทใหญ่  กวาดรายรับ85% ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาเริ่มจากการศึกษาข้อมูลงบการเงิน เพื่อชี้ชัดโครงสร้างของภาคธุรกิจไทยพบว่า ภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวสูงและมีพลวัตที่มีแนวโน้มลดลง โดยจากการแบ่งบริษัทออกเป็น 20 กลุ่มเรียงจากบริษัทขนาดเล็กไปหาบริษัทขนาดใหญ่ พบว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนรายรับ 85% ของรายรับทั้งหมด โดยรูปแบบของการกระจุกตัวได้เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีที่แล้ว

 

เมื่อพิจารณาการกระจุกตัวพบว่า หลายอุตสาหกรรมมีการกระจุกตัวค่อนข้างสูง เห็นได้จาก 10 อันดับอุตสาหกรรมมี อันดับแรกที่ดัชนี HHI (ดัชนีวัดการกระจุกตัว Herfin dahl–Hirschman Index :HHI) ได้แก่ ผลิตตลับลูกปืน เกียร์,โทรคมนาคมผ่านดาวเทียม และผลิตเครื่องจักรการเกษตร ขณะที่พลวัตของธุรกิจมีแนวโน้มลดลง เพราะอัตราเกิดใหม่และปิดกิจการ(ตาย)มีแนวโน้มลดลง ทำให้บริษัทมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของผู้ถือหุ้นรายบริษัทนั้นพบว่า ภาคธุรกิจไทยมีกลุ่มทุนประมาณ 6,000 กลุ่ม การกระจายตัวของอุตสาหกรรมภายในกลุ่มมีความหลากหลาย โดยพบว่า มีเพียง 5% ของบริษัทในกลุ่มทุนเมืองไทย มีส่วนแบ่งยอดขาย 46% เกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายของภาคธุรกิจในเมืองไทยทั้งหมด และหากพิจารณาส่วนแบ่งด้านกำไร ยังพบว่าบริษัทของกลุ่มทุน มีส่วนแบ่งกำไร 60% ของภาคธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งสะท้อนว่า บริษัทในกลุ่มทุนมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจและส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ด้วย เห็นได้จากบริษัทในกลุ่มทุนส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง อยู่ในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10% ของประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนมีผลต่อการกระจุกตัวมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1.ผลิตสุรา 2.ผลิตเบียร์ 3.ขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ ที่เหลือเป็นผลิตพลาสติก, ผลิตกล่องกระดาษ, ผลิตก๊าซ, ผลิตปูนซีเมนต์, ผลิตอิฐ,และผลิตนํ้าตาล

 

สำหรับข้อมูลการส่งออกนั้นยังพบว่า มีเพียง 6%ของบริษัททั้งหมดที่ส่งออกมีมูลค่าประมาณ 70% ของจีดีพี โดยกลุ่มบริษัทที่ส่งออกเพียง 15% ที่ส่งออกสินค้ามีความซับซ้อนสูง โดยผลศึกษาชี้ว่า มีการกระจุกตัวสูงทั้งในแง่ผู้ถือหุ้น การผลิตและการส่งออก โดยการกระจุกตัวยังแบ่งเป็น 2 แบบคือ กระจุกตัวที่ดีและกระจุกตัวที่ไม่ดี โดยการกระจุกตัวที่ดี ซึ่งบริษัทที่มีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการขยายส่วนแบ่งตลาด โดยไม่จำเป็นต้องใช้การกีดกันคู่แข่ง ขณะที่การกระจุกตัวที่ไม่ดี ซึ่งบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูง มีส่วนแบ่งตลาดมากจากการกีดกันผู้เล่นรายใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการกระจุกตัวดีและไม่ดี แต่จะเห็นว่า จากบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงสุด 5% ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรม ค้าปลีก 12.5% ค้าส่ง 11.27% ร้านอาหาร 10.49% โรงแรม 7.34% ผลิตอาหาร 5.93% เกษตร 5.40% โทรคมนาคม 4.64%  

งานวิจัยดังกล่าว ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการที่ได้จากการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจและการแข่งขันมากขึ้นและนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่เหมาะสมเพื่อสร้างประเทศ ไทยที่สามารถแข่งขันได้ในโลกปัจจุบัน

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,510 วันที่ 3-5 ตุลาคม 2562 

                  ทุนไทย กระจุก  บริษัทใหญ่  กวาดรายรับ85%