Inverted yield curve  ทำนักลงทุนหวั่นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้ถดถอย

21 ส.ค. 2562 | 13:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คอลัมน์ครบเครื่องเรื่องทองกับYLG

พวรรณ์  นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

 

เพราะเส้นอัตราผลตอบแทนจะเกิดภาวะผกผัน (inverted yield curve) ก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกๆ ครั้งมาตั้งแต่ปี 1955 นั้นทำให้นักลงทุนบางส่วนใช้ภาวะดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังมาถึง และเป็นที่มาที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างมากในวันพุธที่ 14 สิงหาคม พร้อมกับหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้น

ความวิตกของนักลงทุนถูกกระตุ้นหลังจากเกิดinverted yield curve” ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว และนั่นก็เป็นสัญญาณบ่งชึ้ความไม่ปกติในตลาด รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้นี้

ตามปกติแล้วในช่วงเศรษฐกิจดี ผู้ที่ถือครองพันธบัตรระยะยาวควรจะต้องได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าผู้ที่ถือครองพันธบัตรระยะสั้น นั่นเป็นเพราะว่า พันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงโดยรวมมากกว่าจากระยะเวลาการถือครองพันธบัตรที่นานกว่า หากนักลงทุนนึกภาพไม่ออก อาจจะลองเทียบเคียงกับเวลาที่นักลงทุนฝากเงินในบัญชีธนาคาร หากผู้ฝากสามารถถอนเงินได้ตลอดเวลาธนาคารก็มักจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝาก ในทางกลับกัน หากผู้ฝากฝากเงินในธนาคารเป็นเวลานานกว่านั้น ผู้ฝากก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งตลาดตราสารหนี้ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันนั่นคือยิ่งให้กู้เงินนานเท่าไร ก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น

Inverted yield curve  ทำนักลงทุนหวั่นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้ถดถอย

 

สำหรับภาวะผกผันในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ inverted yield curve ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันพุธที่ 14 สิงหาคมเกิดขึ้นระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 คำถาม คือ เหตุใดนักลงทุนจึงวิตกกับการเกิด inverted yield curve รอบนี้มากนัก นั่นก็เพราะว่า จากสถิติในอดีตพบว่า เกิดภาวะ inverted yield curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกๆ ครั้งมาตั้งแต่ปี 1955 ดังนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าการเกิด inverted yield curve ครั้งนี้จะเป็นสัญญาณเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังใกล้เข้ามา

เพื่อให้เห็นภาพชัดจึงขอพานักลงทุนย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1940 พบว่าตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมาเกิดสภาวะเศรษฐกิจทั้งหมด 12 ครั้ง ที่สำคัญคือ มีการเกิด inverted yield curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีก่อนที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุก 7 ครั้ง ล่าสุดนอกจากนี้ยังเกิด inverted yield curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีก่อนจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 9 ครั้งในทั้งหมด 12 ครั้ง

 

 

 

 

แต่กระนั้น YLG ก็ไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะ inverted yield จะต้องมีความต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงจะเป็นสัญญาณขาลงสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ สถิติในอดีตยังบอกอีกว่า แม้ว่าจะเกิด inverted yield curve แต่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่เกิดขึ้นทันที

โดย BofA พบว่า นับตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา จะใช้เวลานับจากเกิด inverted yield curve ไปจนถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สั้นสุดคือ 8 เดือน (US recession ปี 1959) และยาวนานสุดคือ 24 เดือน (US recession ปี 1959) โดยค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐานจากการเกิด inverted yield curve ไปจนถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะอยู่ที่ 15.1 และ 16.3 เดือนตามลำดับ ที่เป็นสาเหตุที่ YLG แนะนำว่านักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป แต่นักลงทุนก็ควรจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมตัวปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับสถาน การณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ที่มาข้อมูล : Washingtonpost, Zerohedge, Bloomberg และ Bank of america merrill lynch

 

หน้า17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562

Inverted yield curve  ทำนักลงทุนหวั่นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้ถดถอย