แบงก์ เปิดศึก ชิงเค้กปล่อยกู้ ออนไลน์

14 ก.ค. 2562 | 23:30 น.

 

แบงก์แห่ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ตบเท้าจับกลุ่มคนขับ Grab-GET ต่อยอดปล่อยกู้ มั่นใจข้อมูลเยอะ ช่วยลดความเสี่ยง ด้านกรุงเทพขอทดลองเจาะกลุ่มเพย์โรล 10 บริษัท ดูผลตอบรับก่อนปล่อยจริงซีไอเอ็มบี ไทยลั่นไตรมาส 4 เดินหน้าปล่อยกู้ คาดเบื้องต้น 200-300 ล้านบาท

 นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ทิศทางการปล่อยสินเชื่อออนไลน์หรือ Digital Lending ปีนี้ ธนาคารจะขยายลูกค้าไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มพ่อค้าแม่ค้ามากขึ้น หรือกลุ่มลูกค้า SSME ที่เดินบัญชีกับธนาคารเพิ่มขึ้น นอกจากกลุ่มลูกค้าบุคคลที่ปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว เพราะต้องการขยายสินเชื่อไปสู่กลุ่มคนตัวเล็กที่ยังไม่ได้เข้าถึงสถาบันการเงินมากนัก โดยวงเงินปล่อยกู้เฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อราย

อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อออนไลน์ตั้งแต่ปีก่อน ธนาคารได้ปรับปรุงพัฒนาโมเดลธุรกิจและความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่า สามารถลดเกณฑ์บางอย่างได้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อมูลที่มีมากขึ้น ถี่ขึ้น และวิเคราะห์ลูกค้าได้แม่นยำขึ้น ทำให้ลดเกณฑ์หรือข้อบังคับบางอย่างลงได้ เช่น รายได้ จากเดิมเคยปล่อยกลุ่มผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ปัจจุบัน 7,500 บาทต่อเดือนก็สามารถขอวงเงินสินเชื่อออนไลน์ได้

 

แบงก์ เปิดศึก  ชิงเค้กปล่อยกู้ ออนไลน์         

 

นอกจากนี้ ยังร่วมมือ Grab ทดลองปล่อยสินเชื่อให้กับคนขับ GrabTaxi และ GrabBike  ซึ่งทดลองตลาดมา 6 เดือน โดยพิจารณาจากข้อมูลการรับงานขับรถของลูกค้าและความสามารถในการชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยปล่อยไม่สูงมากอยู่ในหลักพันบาทต่อราย ปัจจุบันปล่อยไปแล้วกว่า 2,000 ราย วงเงิน 35 ล้านบาท และยังไม่พบลูกค้าที่มีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)

ขณะที่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ช่วง 4 เดือนแรก ทั้งสินเชื่อบุคคลและผู้ประกอบการรวมกว่า 8.6 หมื่นราย คิดเป็นวงเงิน 1,500 ล้านบาทเมื่อเทียบปี 2561 โดยทั้งปีรวมที่ 1,900 ล้านบาท ซึ่งคุณภาพสินเชื่อโดยรวมดีกว่าสินเชื่อรูปแบบปกติมาก โดยมีหนี้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับตํ่าไม่ถึง 1%

แบงก์ เปิดศึก  ชิงเค้กปล่อยกู้ ออนไลน์

อารักษ์ สุธีวงศ์

 นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ มีอัตราขยายตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตเติบโตสูงมาก โดยทั้งปีน่าจะปล่อยสินเชื่อได้ราว 2 หมื่นล้านบาทเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่่ง 4-5 เดือนแรกสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 7-8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้สินเชื่อออนไลน์จะเติบโตดี แต่ยังถือว่า้น้อยเมื่อเทียบกับพอร์ตทั้งหมด จึงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการเติบโตและเป็นเป้าหมายของธนาคารในระยะต่อไป

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคาร ไทยพาณิชย์กล่าวเสริมว่า ภายในไตรมาส 4 ธนาคารจะเข้าไปปล่อยสินเชื่อออนไลน์ให้กับลูกค้าที่เป็นคนขับรถจักรยานยนต์ภายใต้แอพพลิเคชัน GET หรือ GET Driver ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ GOJEK กว่า 1 หมื่นรายจากคนขับของ GET ที่มี 2 หมื่นราย วงเงินปล่อยกู้เฉลี่ย 8 หมื่น-1 แสนบาทต่อราย เบื้องต้นคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยใกล้เคียงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 28% ขึ้นกับวินัยทางการเงินของลูกค้าเป็นหลัก

โกเจ็ก แข็งแรงมากในตลาดอินโดนีเซีย พอมาอยู่ในไทยเป็น เก็ท ซึ่งข้อดีของการร่วมมือ ไทยพาณิชย์สามารถปล่อยกู้สินเชื่อดิจิทัลให้กับคนขับได้ เพราะเราเห็นทรานแซกชันที่เก็ทให้เรา เห็นกระแสรายรับจากการขับ ซึ่งเราดูโฟลว์สัก 3 เดือน เพราะเก็ทเพิ่งทำตลาดได้ 4 เดือน มีคนขับ 2 หมื่นราย ร้านค้า 2 หมื่นร้านค้า และยอดผู้ใช้ 3 แสนราย คาดสิ้นปีจะมีคนใช้ 1 ล้านราย เติบโต 230%”

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างทดลองปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ในระดับวงเล็กๆและเจาะกลุ่มเป้าหมาย โดยจะเป็นกลุ่มพนักงานที่เปิดบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร(Payroll)และเลือกบริษัทที่จะทดลอง 10 บริษัทและขั้นต่อไปจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ตั้งแต่ 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน และเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นฐานลูกค้าของธนาคาร

        “การพิจารณาปล่อยสินเชื่อออนไลน์ จะมีเครดิตสกอริ่ง(Credit Scoring)เพื่อมาศึกษาพฤติกรรมลูกค้า โดยข้อมูลที่นำมาใช้จะมาจากฐานลูกค้าภายในธนาคารและข้อมูลจากภายนอก มาช่วยคัดกรองลูกค้า และเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า โดยวงเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งหลังจากการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านดิจิทัล(NDID) เริ่มใช้ จะขยายฐานไปยังลูกค้าได้กว้างขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าธนาคาร โดยอาจเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์เงินฝากและค่อยต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ       

 

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ธนาคารจะเริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ภายในไตรมาส 4 โดยช่วงแรกจะทดลองตลาดและเก็บข้อมูลก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อออนไลน์ได้ 200-300 ล้านบาทหรือประมาณ 3,000 ราย จากยอดที่คาดว่าจะเข้ามาขอสินเชื่อทั้งสิ้นราว 1 หมื่นราย

        ทั้งนี้มองว่า หลังจากระบบการพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์(e-KYC)นำมาใช้ครบทั้งระบบ จะเห็นสถาบันการเงินหันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อออนไลน์มากและการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะช่วยลดต้นทุนการเงินให้กับลูกค้าได้ เพราะปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ยังคงใช้การอนุมัติจากบุคคล หาก e-KYC มาจะเป็นการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ 100% โดยขณะนี้ธนาคารมียอดอนุมัติสินเชื่อผ่านออนไลน์ 20% ของสินเชื่อรายย่อยรวม แต่ในอนาคตสัดส่วนจะเพิ่มมากขึ้น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14-17 กรกฎาคม 2562

แบงก์ เปิดศึก  ชิงเค้กปล่อยกู้ ออนไลน์