ผุดรถไฟฟ้าทุกปี BEMลุ้นกำไรโต

12 ก.พ. 2561 | 09:15 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รถไฟฟ้าขยายเส้นทางต่อเนื่องเปิดใหม่ทุกปี “สมบัติ” เชื่อกิจการมั่นคงความเสี่ยงตํ่า เติบโตแบบ นํ้าซึมบ่อทราย พร้อมร่วมประมูลเดินรถสายสีม่วงใต้ สีส้ม รถไฟความเร็วสูง บล.หยวนต้าแนะซื้อเป้า 9.55 บาท

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(BEM) กล่าวในงานสัมมนาหุ้นไทยไป 2000 จุด? ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุน ทางโลจิสติกส์ของประเทศค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาจนสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ดังนั้นนับจากนี้ไประยะ 4-5 ปีจะพบว่ามีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเปิดให้บริการทุกปี

ในปี 2561 นี้มีสายสีเขียวเส้นทางไปจังหวัดสมุทรปราการ, ปี 2562 สายสีนํ้าเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และในปี 2563-2564 เปิดให้บริการช่วงท่าพระ-บางซื่อ จากนั้นในปีถัดๆ ไปจะเปิดสายสีชมพู ตามด้วยสายสีเหลือง และสายสีส้ม (ช่วงตะวันออก) แสดงว่ารัฐบาลดำเนินการพัฒนาอย่างจริงจัง

App01 “แผนการลงทุนเพื่อเร่งพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเทียบกับเมืองขนาดใหญ่จะต้องมีการให้บริการระบบรางประมาณ 20% ขึ้นไป ฮ่องกงมี 25-30% แต่ในไทยปัจจุบันโดยเฉพาะกรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่คิดเป็น 50% ของจีดีพีไทย แต่การเดินรถยังไม่ถึง 10%”

นโยบายของ BEM คือต้องเข้าไปลงทุนล้อไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ต้องมีความสามารถแข่งขัน โดย BEM ยืนยันความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเดินรถสายสีม่วงใต้ และสายสีส้ม รถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน โดยมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะสูงกว่าคู่แข่ง โดยการดำเนินโครงการต้องใช้ระยะเวลานานถึง 20-30 ปี จึงต้องเลือกโมเดลธุรกิจการบริหารจัดการที่ดี และมองโอกาสเติบโตข้างหน้าของ BEM ยังไต่ระดับขึ้นได้เรื่อยๆ

“การควบรวมทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า ยังถือว่าเราเป็นบริษัทน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เริ่มไปเมื่อปี 2559 จึงยังดูดีพอที่จะสอดรับกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้นในการดำเนินการจึงต้องทำให้ตัวเลขมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน BEM ก็จะต้องเข้าไปลงทุนได้ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการประคับประคองการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แต่สำคัญคือต้นทุนสู้รายอื่นได้หรือไม่” เขากล่าวและว่า

การลงทุนพัฒนาระบบรางของ BEM ยังเป็นไปในทำนองที่ว่านํ้าซึมบ่อทราย ค่อยเป็นค่อยไป ความเสี่ยงมีอยู่บ้าง แต่เมื่อมองในระยะยาวจะพบว่าเป็นการลงทุนในปัจจัยพื้นฐานที่อยู่ในประเทศทั้งนั้น เกิดการขยายโครงข่ายออกไปมากๆ รายไหนดำเนินการก็จะป้อนผู้โดยสารมาให้กับ BEM ด้วยเช่นกัน และหาก BEM ดำเนินการก็จะได้ลดต้นทุนอีกทางหนึ่งได้เช่นกัน ทั้งนี้ BEM ผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้วจึงต้องรักษาบิสิเนสโมเดลให้อยู่ได้นานมากที่สุด

AW_Online-03 ประการสำคัญ ปัจจุบันพบว่าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้มีการพัฒนานำหน้าไปก่อนโครงการรถไฟฟ้า หากยังคงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน แนวโน้มรายได้ที่เข้ามาจะเป็นแนวขึ้นทั้งนั้น จากการที่ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น ระยะทางมากขึ้น มีอัตราที่จะใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ก็มากขึ้นตามไปด้วย แม้บอร์ดบริหารจะมีนโยบายกันกำไรบางส่วนเพื่อใช้ในการลงทุน แต่ยังเชื่อว่าอย่างไรแล้ว การจ่ายปันผลก็ยังเป็นขาขึ้น

การเข้ามาลงทุนหุ้น BEM ขณะนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะส่วนหนึ่งได้มีการแบกรับความเสี่ยง (Take risk) ไปก่อนหน้านี้แล้ว มองเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาว

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)หยวนต้าฯ ออกบทวิเคราะห์แนะนำซื้อหุ้น BEM ให้ราคาเป้าหมาย 9.55 บาท คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 4/2560 จะออกมาก้าวกระโดดกำไร 880 ล้านบาทเติบโต 49% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจากยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและทางด่วนที่เพิ่มขึ้น มีปัจจัยบวกจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า และราคาหุ้นยังขึ้นมาไม่มากเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ และหุ้นในกลุ่มขนส่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว