มองต่าง! EA27-110 บาท ... 'ธนชาต' ต่อจิ๊กซอว์โมเดลธุรกิจหรู - 'ไทยพาณิชย์' ไม่รวมแบตฯ

03 ก.พ. 2561 | 15:26 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

2213

“หุ้นพลังงาน” บริสุทธิ์ร้อนแรง! “ธนชาต” เพิ่มมูลค่าหุ้นพุ่งอีกเท่าตัว คาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 110 บาท ปี 2563 ถึง 130 บาท มองกำไรก้าวกระโดด 3.2 เท่า ใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ “บล.ไทยพาณิชย์” ให้เป้าแค่ 27 บาท คิดเฉพาะขายไฟฟ้า ไม่แน่ใจความสำเร็จโครงการแบตเตอรี่ในอนาคต

นักลงทุนที่ติดตามการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA อาจจะสับสน เมื่อพิจารณาข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนที่ให้ราคาเฉลี่ย (IAA Consensus Target Price) หุ้นละ 47 บาท โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาตฯ เพิ่งปรับเพิ่มมูลค่าเหมาะสมจาก 46 บาท เป็น 110 บาท ถือว่าเป็นการตีราคาที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)ฯ ที่เพิ่งปรับประมาณการเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2561 ให้ราคาเป้าหมาย 47 บาท และ บล.ไทยพาณิชย์ฯ เป็นเจ้าเดียวที่ไม่ได้ทบทวนประมาณการ คงราคาเป้าหมายไว้ที่ 27 บาท

การปรับเพิ่มราคาเป้าหมายถึง 106% ของ บล.ธนชาตฯ จุดพลุให้ราคาหุ้น EA ดีดขึ้นแรง เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561 ให้เหตุผลถึงที่มาของราคา 110 บาท เกิดจากการมองอนาคตภาพอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและนโยบายที่ชัดเจนขึ้น ยก EA เป็นผู้นำเทรนด์การกักเก็บพลังงานในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมากกว่าธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อมั่นว่า บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ จะกลายเป็นผู้นำด้าน Power Solution ของอาเซียน พร้อมปรับสมมติฐานเพิ่มขนาดกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (ES) เป็น 30GWh ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2562-2566) จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 10GWh หรือ 60% ของแผนบริษัทที่ 50GWh

“เราให้ราคาเป้าหมายหุ้น EA ถึง 130 บาท ในปี 2563 เพราะมองว่า บริษัทเป็น 1 ในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงที่สุดของไทย คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 3.2 เท่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า และ 8.6 เท่า ใน 10 ปี จากธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ที่สร้างกระแสเงินสดให้สม่ำเสมอและมีเสถียรภาพ” บล.ธนชาตฯ ระบุ

สาเหตุที่มั่นใจในผลงานของ EA เนื่องจากคาดว่า บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ จะสร้างอาณาจักรภายใต้แนวคิด สมาร์ท ซิตี บนพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีโรงงานแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานใหญ่ระดับโลก มีกำลังการผลิต 30GWh โรงงานไบโอดีเซล ขนาด 1 ตัน และมีซัพพลายเชนด้วยกลยุทธ์การใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน 70-80% มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายแพ็กเกจครบวงจร (ESS) ในตลาดอาเซียน รวมถึงการเป็นเจ้าของสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ และอาจจัดจำหน่ายแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)


MP17-3331-A

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงก็เกิดขึ้นได้ หากเกิดความล่าช้าของโครงการและด้านเทคโนโลยีของแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน แต่เชื่อว่า มีโอกาสบวกมากกว่า ส่วนการลงทุนใน บริษัท อมิต้าฯ 50% ก็ส่งมอบโรงงานแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานให้รัฐบาลปักกิ่งเรียบร้อยแล้ว โดยไม่คิดว่า การเพิ่มทุนในอนาคตเป็นความเสี่ยง แต่กลับเป็นหนทางการเติบโต แต่คาดว่า บริษัทจะไม่เพิ่มทุนเพื่อลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ แต่อาจจะเพิ่มทุนเพื่อลงทุนในโครงการ ESS หลังปี 2563

ทางด้าน บล.ไทยพาณิชย์ฯ ที่ประเมินมูลค่า EA ออกมาต่ำมาก เพียง 27 บาท ค้านสายตาของนักลงทุน เหตุผลสำคัญ คือ ประเมินมูลค่าที่ได้รับจากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตามหลักการคำนวณมูลค่าเท่านั้น ยังไม่นำรายได้หรือกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานและโครงการต่อเนื่อง เพราะโครงการลงทุนยังมีความไม่แน่นอน


728x90-03

นักวิเคราะห์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า โครงการแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานมีความเสี่ยง และจะต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยที่เอกชนลงทุนก่อน รัฐบาลหลายประเทศยังไม่ให้การสนับสนุน รวมถึงเทคโนโลยีซับซ้อน อาจจะทำให้นักวิเคราะห์ไม่มีความรู้มากพอ

“ทุกคนชอบโมเดลธุรกิจของ EA และชื่นชมไอเดียของ คุณสมโภชน์ อาหุนัย แต่เมื่อยังไม่เห็นโครงการแบตเตอรี่สำเร็จ ขณะที่ บริษัทมีการลงทุนมหาศาล ทั้งการซื้อที่ดินและการซื้อหุ้นอมิต้าฯ จึงยังไม่รีบนำข้อมูลในอนาคตมาตีมูลค่าที่เหมาะสมในปีนี้” นักวิเคราะห์ กล่าว


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14-17 ม.ค. 2561 หน้า 17

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9