รู้ยัง!โอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไป RMF ได้แล้ว

28 ก.ย. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถือเป็นช่องทางการออมเงินเพื่อรองรับการเกษียณของพนักงานบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนดังกล่าว จึงได้เชิญชวนนายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยพนักงานและลูกจ้างในองค์กรเห็นประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เครื่องมือสำคัญในการออมเพื่อรองรับการเกษียณอายุให้เพียงพอ สำหรับแรงงานในระบบเพิ่มเติมจากระบบประกันสังคม

[caption id="attachment_101454" align="aligncenter" width="700"] การเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ การเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ[/caption]

ข้อมูลจากก.ล.ต. ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมของผู้สูงอายุ ในปี 2568 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ระบบบำเหน็จบำนาญหรือระบบสวัสดิการแบบเดิมอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการออมเพิ่มเติมอีกอันหนึ่ง เพื่อรองรับการเกษียณอายุสำหรับแรงงานในระบบ นอกจากระบบประกันสังคมที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ

ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในประเทศไทยมีอัตราสะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และอัตราสมทบเฉลี่ย 5% ขณะที่กฎหมายอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถสะสมได้ถึง 15% และนายจ้างสมทบได้ถึง 15%

ขณะที่เมื่อเจาะไส้ในของการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน พบว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากในสัดส่วนที่สูงถึง 85% ทำให้กองทุนมีผลตอบแทนต่ำเติบโตช้า เงินก้อนที่สมาชิกจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ อาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

นอกจากนี้ยังพบว่าสมาชิกกองทุนที่เกษียณอายุมากกว่า 50% ได้รับเงินก้อนจำนวนไม่ถึง 1 ล้านบาท หากสมาชิกเหล่านี้มีอายุยืนต่อไปอีก 20 ปี จะมีเงินใช้ไม่ถึงเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าครองชีพขั้นต่ำที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยประเมินไว้ว่าควรมีอย่างน้อยเดือนละ 10,000 บาท

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้นายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยผลักดันให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือการออมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานและลูกจ้างในยามเกษียณ โดยนายจ้างสามารถช่วยออกแบบกองทุนให้พนักงานและลูกจ้างออมเงินได้อย่างสะดวก เช่น ใช้ระบบอัตราสะสมเพิ่มขึ้นเมื่อเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และจัดให้มีทางเลือกการลงทุน (employee’s choices) ที่เหมาะกับสมาชิก ในขณะที่ผลักดันให้มีทางเลือกกองทุนหลากหลายประเภท อาทิ กองทุนแบบไลฟ์แพลน (life path) ที่บริษัทจัดการจะทำหน้าที่เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงตามช่วงอายุและระยะเวลาการลงทุนของสมาชิกแต่ละราย โดยที่สมาชิกไม่ต้องตัดสินใจเอง

นอกจากนี้นายจ้างยังสามารถส่งเสริมการให้ความรู้ หรือมีเครื่องมือช่วยสมาชิกให้รู้จักออมเพื่อการเกษียณอย่างเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนให้กรรมการกองทุนมีความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลประโยชน์ให้สมาชิกได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ทำให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบกับนายจ้าง นอกจากนี้สมาชิกกองทุนจะมีทางเลือกในการรับเงินเป็นงวดโดยไม่ต้องเอาออกมาทั้งก้อน และสามารถโอนเงินไปออมต่อเนื่องในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ สนับสนุนให้กรรมการและสมาชิกมีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดหรือเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม ส่วนการให้ความรู้ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือสมาคมบลจ. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมมือกันให้ความรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นายจ้างและสมาชิกใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปลงทุนในกองทุน RMF ของแต่ละบลจ. ที่มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย จะเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากพนักงานบริษัทที่ต้องการออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณหรือผู้เกษียณที่ต้องการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาวและต้องการดูแลพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเอง

การโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุน RMF นั้น สมาชิกกองทุนสามารถแจ้งความต้องการกับนายจ้างได้ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง

เมื่อสำรวจความเคลื่อนไหวของการโอนย้ายของกองทุน พบว่าเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ที่ได้เดินหน้าเปิดรับโอนย้ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เข้ามาลงทุนต่อในกองทุน RMF ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา หลัง ก.ล.ต. เปิดไฟเขียวให้โอนย้ายได้ เพื่อโอกาสการออมเงินต่อเนื่องหรือต้องการรักษาสิทธิทางภาษี

นางจันทนา กาญจนาคม กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ กล่าวว่า ลูกค้าเป้าหมายของบริษัท จะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่เปลี่ยนงานใหม่ ลาออกหรือนายจ้างเลิกกิจการ แต่ยังไม่ต้องการนำเงินออกมาโดยปัจจุบันเปิดให้บริการรับโอนย้ายเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มายังกองทุนRMF จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนเปิด แอล เอช ไทย พร็อพเพอร์ตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (LHTPROPRMF) 2. กองทุนเปิด แอล เอช เฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ (LHFLRMF) และ 3.กองทุนเปิด แอล เอช พันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (LHGOVRMF)

การให้สิทธิ์โอนย้ายเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุนRMF ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการออมอย่างต่อเนื่องในระยะยาวของ ก.ล.ต. เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ลงทุนหลังเกษียณอายุ อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขอคงเงินให้กับผู้ที่ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยไม่ผิดเงื่อนไข

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559