แนะรัฐปลดล็อกส่งออกรายเล็ก เน้นอายุน้อย/สินค้าปลายนํ้าหนุนสินเชื่อลุยสนามแข่งขัน

28 ก.ย. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แนะปลดล็อกกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ “รายเล็ก-อายุน้อย-ปลายนํ้า” เข้าแข่งขันสนามส่งออก ด้านผลวิจัย “มองมาตรการภาครัฐและหนี้ครัวเรือนผ่านเครดิตบูโร” สะท้อนคนอายุ 70-80 ปี วัยเกษียณยังมีหนี้สูง ชี้ประชากรเข้าถึงสินเชื่อ 24% เฉลี่ยต่อคนเป็นหนี้ 5.44 แสนค้างชำระเกิน 90 วัน 16.4% ส่วนมาตรการรัฐแม้ส่งผลตรงถึงเศรษฐกิจแต่กระทบต่อเนื่องสู่การจ้างงานและความสามารถในการชำระ

นายทศพล อภัยทาน หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ นำเสนอผลงานวิจัยในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หัวข้อ “บทบาทของการเงินต่อการค้าระหว่างประเทศในมุมมองจุลภาค” ว่าบทบาทสินเชื่อต่อปริมาณการส่งออกมีความสัมพันธ์ โดยนำตัวเลขปริมาณการค้าและตัวเลขสินเชื่อจากธปท. มาวิเคราะห์ซึ่งฐานสินเชื่อธปท.ในช่วงปี 2556-2558 มีลูกหนี้รวมกว่า 9 ล้านบัญชี วงเงินที่ระดับ 20 ล้านบาท มีจำนวนลูกหนี้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 5 หมื่นราย (มีรายละเอียดประเภทสินเชื่อและวัตถุประสงค์การใช้สินเชื่อ) แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มส่งออกและได้สินเชื่อ , กลุ่มผู้ส่งออกที่ได้สินเชื่อแต่ไม่มีการส่งออก และกลุ่มส่งออกแต่ไม่ได้สินเชื่อและไม่มีข้อมูล ซึ่งผลการวิจัยพบว่า สินเชื่อมีบทบาทต่อมูลค่าการส่งออกประมาณ 15% โดยสินเชื่อระยะสั้นจะมีบทบาทในทุกมิติทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและเพิ่มโอกาสการส่งออก ขณะที่สินเชื่อระยะยาวจะมีผลต่อมิติสินค้าและตลาด

ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมในหัวข้อดังกล่าวว่า ภายหลังจากนำผลวิจัยดังกล่าวมาวิเคราะห์ต่อในเรื่องของบทบาทสินเชื่อจะมีผลต่อมิติใดบ้าง ภายใต้สมมติฐานที่แบ่งเป็น 6 สมมติฐาน คือ 1. ขนาดของผู้ส่งออก 2. การขนส่ง (ทางอากาศและทางนํ้า) 3.ความน่าเชื่อถือของคู่ค้าที่นำดัชนีความยุติธรรมของธนาคารโลกมาชี้วัด 4.ความสัมพันธ์ของคู่ค้า (กรณีที่มีความสัมพันธ์นานจะพึ่งพาการเงินในวิธีหรือรูปแบบอื่น) 5. ตำแหน่งในห่วงโซ่การผลิตแบ่งตามสินค้าต้นนํ้า-ปลายนํ้า และ 6.ความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมมีการพึ่งพาสินเชื่อแตกต่างกัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตาม 6 สมมติฐานพบว่า สินเชื่อมีความสำคัญของผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กถ้าหากได้รับสินเชื่อค่อนข้างสูงจะมีการขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าสินเชื่อมีความสำคัญต่อการขนส่งทางอากาศเพราะจะมีต้นทุนการขนส่งที่สูงกว่าการขนส่งทางนํ้า ตลอดจนความน่าเชื่อถือของคู่ค้าและความสัมพันธ์ที่มีต่อการส่งออกเป็นส่วนหนึ่งต่อบทบาทสินเชื่อบทบาทของสินเชื่อการส่งออกรายอุตสาหกรรม ขณะที่มูลค่าสินเชื่อต่ออุตสาหกรรมต่างๆ จะพบว่าอุตสาหกรรมที่ต้องการสินเชื่อมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหารและคอมพิวเตอร์ จะพบว่าสินเชื่อไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งบอกถึงอุปสงค์ให้ผู้ประกอบการส่งออกปรับตัวมากขึ้น

ดังนั้น ภาพรวมบทบาทของสินเชื่อ จะแปรผันตามการส่งออกและช่วงเวลา โดยรวมสินเชื่อจะมีนํ้าหนักไม่เกิน20% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากประเทศญี่ปุ่นและเปรู ขณะที่ตลาดที่มีการขยายในตลาดต่างๆ พบว่า ผู้ประกอบการที่มีจำนวนเพิ่มมากที่สุด จะอยู่ในกลุ่มยานยนต์ที่มีการเพิ่มในทุกตลาด และส่วนใหญ่จะขยายตัวไปในตลาดอาเซียนมากที่สุด

“จากการทำข้อมูลเชิงนโยบายและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จะเห็นว่าการเงินมีความสำคัญและแฝงในทุกขั้นตอนกระบวนการค้า สะท้อนว่าหากผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อระยะสั้นได้จะมีผลต่อการส่งออก ซึ่งข้อเสนอแนะอยากให้ภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีอายุน้อยและเป็นสินค้าปลายนํ้า ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าสู่สนามการส่งออกได้”

ด้านดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์ ธปท. กล่าวในหัวข้อ “มองมาตรการภาครัฐและหนี้ครัวเรือนผ่านเครดิตบูโร” ในวันเดียวกันว่า การนำข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (เครดิตบูโร) ครอบคลุมสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์15 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs) 5 แห่ง โดยมีสินเชื่อคงค้างถึง 8.7ล้านล้านบัญชี หรือ 16.05 ล้านคน คิดเป็น 49.1 ล้านบัญชี ครอบคลุมหนี้ 47%ของหนี้ทั้งหมด(เดือนมี.ค.59) ซึ่งภาพรวมของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 80%แต่จะนำมาดูใน 3 มิติ คือ สินเชื่อคงค้างทั้งหมด หนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน พื้นที่และอายุ

ทั้งนี้ ข้อมูลเดือนมีนาคม 2559พบว่า สัดส่วนหนี้ทั้งหมดต่อประชากรจะมีหนี้เฉลี่ย 1.3 แสนบาทต่อคน โดยมีประชากรเข้าถึงสินเชื่อประมาณ 24% ทั้งในส่วนของสินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น หากดูสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อถือว่ายังน้อยมากโดยเฉลี่ยมีหนี้ต่อคนอยู่ที่ 5.44 แสนบาทซึ่งแต่ละคนจะมีสินเชื่อไม่เท่ากัน แต่การกระจุกตัวอยู่ในสัดส่วน 10% แรกจะมีหนี้ที่ 61.2%ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด หากนำข้อมูลหนี้ครัวเรือนมาวิเคราะห์ตามพื้นที่และอายุ จะพบว่าพื้นที่ที่มีหนี้อยู่แล้วจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลอำเภอเมือง และพื้นที่ภาคอีสานสะท้อนว่าเป็นพื้นที่ที่มีหนี้สูง ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะต้องติดตามว่าจะเกิดจากปัจจัยใด

ขณะที่การมีหนี้ที่แบ่งตามอายุ จะพบว่าคนอายุเฉลี่ย 20-80 ปี มีหนี้มากที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 31 ปี โดยมีสัดส่วนหนี้สูงถึง 51% และคนที่มีหนี้อยู่แล้วและก่อหนี้ใหม่จะอยู่ในกลุ่มอายุ 35-60 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะคนอายุที่อยู่ในวัยเกษียณอายุแต่ยังมีหนี้สูง โดยเฉพาะอายุ 70-80 ปี จะมีหนี้ก้อนที่ยังคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม

ส่วนสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90วัน(หากนำสินเชื่อค้างชำระหารสินเชื่อคงค้างทั้งหมด) จะมีสัดส่วนหนี้ที่ค้างชำระประมาณ 6% คิดเป็น 16.4% ที่ค้างชำระและคนที่มีหนี้ค้างชำระจะมีประมาณ 76%ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่สูง หากนำหนี้ค้างชำระมาแยกตามพื้นที่จะพบว่าภาคใต้มีหนี้ค้างชำระสูงสุด ภาคเหนือจะมีค้างชำระน้อยที่สุด โดยอายุที่มีการค้างชำระมากที่สุดอายุ 29 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 26% ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี หากดูการขยายตัวสินเชื่อตั้งแต่ปี 2552-2559 พบว่าสัดส่วนหนี้ต่อหัวขยายตัวถึง 29% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนที่เข้าถึงสินเชื่อ โดยในปี 2552 มีประมาณ 18%และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น24% ส่วนหนึ่งมาจากคนที่มีสินเชื่อแล้วและมีสินเชื่ออีกประมาณ 44% โดยภาคอีสาน เป็นภาคที่มีการเพิ่มขึ้นของหนี้มากที่สุด

[caption id="attachment_101459" align="aligncenter" width="336"] ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศา สตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศา สตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[/caption]

ส่วนทาง ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศา สตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวเสริมว่า ผลวิจัยดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นภาครัฐมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ โดยได้ยกตัวอย่าง“มาตรการโครงการรถคันแรก” มาวิเคราะห์(โครงการดังกล่าวเริ่มปี 2553-2555) ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการซื้อสินค้าคงทน โดยสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อแลกการซื้อรถยนต์ที่มีขนาดโครงการกว่า 1-2 ล้านคัน และประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคยานยนต์

อย่างไรก็ดี กุญแจสำคัญของโครงการรถคันแรก คือการยืมอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพมากในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอ แต่สิ่งที่เกิดตามมา คือจะมีผลต่อการเงินของผู้ที่เข้าระบบโครงการดังกล่าว โดยจะมีผลต่อการชำระหนี้ เช่น คนที่ไม่เคยใช้สินเชื่อหรือมีการเข้าถึงสินเชื่อมาก่อน จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าคนที่ซื้อรถยนต์ตามปกติ และกลุ่มนี้จะมีโอกาสผิดนัดชำระสูงกว่า เนื่องจากเป็นการเพิ่มแรงจูงใจทำให้คนเร่งซื้อรถก่อนกำหนดในช่วงจังหวะที่ไม่มีความพร้อม ซึ่งไม่เฉพาะแค่โครงการรถคันแรก แต่ยังรวมถึงสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งจะมีผลต่อการก่อหนี้ใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจาก 2ส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากความต้องการของผู้กู้น้อยเพราะมีหนี้ที่รัดตัว ทำให้การก่อหนี้ใหม่มีน้อยลง

“จากผลการศึกษาการให้แรงจูงใจซื้อสินค้าคงทนผ่านภาคยานยนต์ แม้ว่าจะมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ แต่ยังมีผลต่อการชำระหนี้และความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ด้วย ตลอดจนมีผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานและพื้นที่การชำระหนี้ด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559