ทวง “เงินช่วยเหลือนาปรัง” ไร่ละ 1,000 บาท จ่ายสูงสุด 10,000 บาท

15 พ.ค. 2568 | 04:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2568 | 05:27 น.

อัปเดต “เงินช่วยเหลือนาปรัง” ไร่ละ 1,000 บาท จ่ายสูงสุด 10,000 บาท สมาคมชาวนาฯ ทวงถาม "อธิบดีกรมการค้าภายใน" รับปากได้แน่ ล่าสุด เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนกว่า 7 แสนราย ต้องจ่ายกว่า 7 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)  โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ เฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร แล้วให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ให้มูลค่าสูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับตลาด วงเงินงบประมาณ 2,867.23 ล้านบาท

ทวง “เงินช่วยเหลือนาปรัง” ไร่ละ 1,000 บาท จ่ายสูงสุด 10,000  บาท

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า ถึงความคืบหน้ามาตรการการช่วยเหลือชาวนา นาปรัง ปี 2568 จ่ายตรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งก็ได้สอบถามทางนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นระยะ เนื่องจากมีชาวนาทั่วประเทศสอบถามมาอย่างต่อเนื่องว่าเมื่อไรจะได้รับเงิน เนื่องจากกรอบระยะเวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้ว แล้วกำลังจะเข้าสู่นาปีแล้วด้วย

“ทางอธิบดีก็รับปากว่าได้แน่ แล้วจะเข้า นบข.ทบทวนวงเงินใหม่ เนื่องจากมีเกษตรการมาขึ้นทะเบียนกว่า 7 แสนราย คาดว่าจะใช้งบกว่า 7 พันล้านบาท ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แล้วก็จะเข้า ครม.ต่อไป”

ขณะที่ แหล่งข่าวกรรมการ จาก นบข. กล่าวว่า การที่ นบข. มีมติ ให้ความเห็นชอบจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่ายสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท จะต้องผ่านความเห็นชอบมาจากคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด หรือ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวด้านการผลิต ก่อน ที่จะเข้า นบข.ก่อนหรือไม่ 

"หากย้อนไป เมื่อวัน 20 กุมภาพันธ์ 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (คณะอนุกรรมการ นบข.ด้านตลาด) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรัง 2568 ดังนี้ 

  • 1.ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ระยะเวลา 1-5 เดือน ในพื้นที่ 72 จังหวัด ปริมาณ 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219.13 ล้านบาท
  • 2. การเพิ่มช่องทางการตลาดในประเทศโดยเปิดจุดรับซื้อ รัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท ผู้ประกอบการช่วยซื้อในราคานำตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 300,000 ตัน  ในพื้นที่ 72 จังหวัด งบประมาณ 150 ล้านบาท เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะขายเลย
  • 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว ช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการ 6% สำหรับผู้ประกอบการเก็บสต็อก 2 - 6 เดือน และผู้ประกอบการรับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 200 บ./ตัน ขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524.40 ล้านบาทโดยทั้ง 3 มาตรการ ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท

เช่นเดียวกับทางคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต โดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันนั้นไม่มีวาระในเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่ายสูงสุด ไม่เกิน 10,000 บาท  มีแต่เสนอเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบห้ามเผา ปีการผลิต 2567/68 สนับสนุนไร่ละ 500 บาท  แต่เมื่อโหวตเสียงแล้วก็แพ้ไป

ส่วนมติที่ชนะโหวตในวันนั้นเพื่อส่งให้ นบข.  ก็คือ ให้ "กรมการข้าว" เสนอแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีห้ามเผาตอซัง และฟางข้าว ด้วยวิธีอื่นควบคู่ ได้แก่

1.สนับสนุนสารชีวภัณฑ์ในการย่อยสลายฟางข้าว

2.ขอความร่วมมือภาคเอกชนรับซื้อฟางเป็นวัสดุใช้ในอุตสาหกรรม

3.รณรงค์การไถกลบตอซัง และขอความร่วมมือสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรจากศูนย์ข้าวชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแปลงใหญ่ที่รัฐบาลสนับสนุนไปแล้ว จำนวน 559 ศูนย์ข้าวชุมชน และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแปลงใหญ่ 2,029 แห่ง เช่น รถแทรกเตอร์ พร้อมอุปกรณ์พ่วง เครื่องอัดฟาง จอบหมุน ผานพวน และเครื่องตอซังข้าว (กลุ่มละ 2.996 ล้านบาท)

4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนการบังคับใช้/เลื่อนเวลา และปรับปรุง ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องมาตรการบริหารการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน  เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 68 และระเบียบ กฎหมายจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอนให้สอดคล้องกับสถานการการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

สรุป ก็คือ มาตรการการช่วยเหลือชาวนา นาปรัง ปี 2568 จ่ายเงินตรง ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท จะต้องให้ความเห็นชอบผ่าน คณะอนุฯผลิต หรือ อนุฯ ตลาด ก่อนหรือไม่ จึงจะมีเหตุผลทำให้ทางกรมการค้าภายใน เสนอให้ นบข.ทบทวนกรอบวงเงินใหม่ได้ แล้วคณะไหนจะเป็นผู้เสนอ ในเมื่อทั้ง 2 คณะ ที่ประชุมไม่มีการกล่าวถึงมติเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ เลย หรือ นบข.สามารถมีมติเห็นชอบได้เลย โดยที่ไม่ต้องผ่าน 2 คณะอนุฯ ก็ได้