ภาษี “ทรัมป์” นาฬิกาปลุกประเทศไทย เร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งตลาดมะกัน

14 พ.ค. 2568 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2568 | 08:17 น.

งวดเข้ามาทุกขณะกับการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งในเบื้องต้นไทยจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 36%

อย่างไรก็ดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐได้ประกาศให้ชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน (จากเดิมจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 เม.ย. 2568) เพื่อเปิดทางให้แต่ละประเทศได้มีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ให้เป็นที่พอใจของสหรัฐ

ธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ต่อทิศทางแนวโน้มสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และไทยต้องเตรียมรับมืออย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกคนใหม่ ได้รับมุมมองน่าสนใจยิ่ง

โลกการค้าที่ไม่เหมือนเดิม

นายธนากร กล่าวว่า สรท.ประเมินว่าสหรัฐอเมริกาจะเร่งเจรจาเรื่องภาษีกับประเทศคู่ค้าเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และในท้ายที่สุดอาจมีการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 10% อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้มองว่าสหรัฐคงมีธงตั้งไว้อยู่แล้วว่าคิดอย่างไร และจะเก็บภาษีในอัตราเท่าใด (รวมถึงในส่วนของประเทศไทย) และสุดท้ายคงขึ้นอยู่กับไทยจะ offer หรือมีข้อเสนอกับสหรัฐในรูปแบบใดเพื่อให้สหรัฐพอใจ ซึ่งรัฐบาลไทยคงเตรียมข้อเสนอในหลาย ๆ เรื่องไว้เพื่อเจรจาต่อรองอยู่แล้ว

ภาษี “ทรัมป์” นาฬิกาปลุกประเทศไทย เร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งตลาดมะกัน

สำหรับ สรท.มีข้อเสนอเพื่อรับมือกับรูปแบบการค้าใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้แก่ ควรเจรจาโดยแยกมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายใต้การลงทุนของสหรัฐในไทย และเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุนที่ไทยต้องการจากสหรัฐ

ต่อมาคือ รัฐและเอกชนควรเร่งวางกลยุทธ์รายกลุ่มสินค้า ว่ามีสินค้าใดที่มีศักยภาพ หรือไทยมีโปรดักส์แชมเปี้ยนใหม่ ๆ อะไรบ้างที่จะไปเจาะตลาดอื่นเพิ่มนอกเหนือจากตลาดสหรัฐ และต้องมีเป้าหมายตลาดที่ชัดเจนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดสหรัฐ โดยมุ่งเน้นตลาดที่ไม่มีการตั้งเงื่อนไขทางการค้ามาก และต้อนรับสินค้าไทย

 “นาฬิกา”ปลุกไทย-โลกตื่น

 “การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐในครั้งนี้เป็น wake-up call หรือเปรียบเสมือนเป็นนาฬิกาปลุกทุกคนว่าโลกไม่ปกติแล้ว สภาพการค้าเดิมที่มีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นหลักการในการทำการค้าของโลกให้ทำตามทั้งหมด มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว พอไม่ใช่แบบนั้นก็จะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลที่เป็นคนบริหารประเทศอยู่ ก็ต้องฟังและคุยกับเอกชนให้มาก ๆ ว่าเอกชนคิดอย่างไร” นายธนากร กล่าว

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ หลังจากที่สหรัฐได้ชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน ซึ่งก่อนเส้นตายนี้มีผลให้สินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐเกือบทุกรายการได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อจากคู่ค้าในสหรัฐเพิ่มมากขึ้น และต้องเร่งส่งมอบก่อนที่ภาษีจะปรับขึ้น และก่อนจะมีความชัดเจนในเรื่องภาษี เพื่อนำเข้าสินค้าไปตุนสต๊อกในต้นทุนที่ตํ่าสุด และหลังจากภาษีตอบโต้ประกาศออกมาแล้วคู่ค้าก็จะมาดูอีกทีว่าจะซื้อสินค้าจากประเทศใดดี ที่ได้รับอัตราภาษีนำเข้าตํ่าสุด หรือจะเปลี่ยนไปซื้อจากประเทศอื่นที่น่าสนใจมากกว่า

ทิศทางส่งออกเริ่มชะลอตัว

“การส่งออกของไทยไปสหรัฐนับจากนี้มองว่าจะชะลอตัวลง เพราะช่วง 3 เดือนแรกเขาสั่งของเข้าไปเยอะแล้ว และในอีก 3 เดือนต่อมาอาจจะสั่งลดน้อยลงไปหน่อย และในอีก 6 เดือนหลังของปีนี้ถ้าอัตราภาษีตอบโต้ที่ไทยได้รับสูงกว่าคู่แข่งขันก็อาจจะมีการซื้อน้อยลง ทำให้เราต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องรีบทำการบ้านว่าจะไปขายตลาดไหนได้บ้าง”

ทั้งนี้จากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม ได้คาดการณ์ส่งออกไทยทั้งปีนี้ กรณีไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้ที่ 10% จะส่งผลให้การส่งออกไทยทั้งปี 2568 จะขยายตัวเพียง 0.3-0.9% และหากถูกเก็บภาษีตอบโต้ตามที่สหรัฐประกาศไว้เดิมที่ 36% จะส่งผลให้การส่งออกไทยทั้งปีนี้อาจหดตัวหรือติดลบถึง 2% มองว่าน่าจะมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง เนื่องจากการขยายตัวสูงของการส่งออกไทยช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ (ขยายตัว 15%) และคาดยังขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ที่เป็นช่วงที่ภาษีตอบโต้ยังไม่เกิดขึ้น

ความท้าทายที่ต้องฝ่าฟัน

นายธนากร ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คนใหม่ กล่าวยอมว่า การเข้ามารับตำแหน่งในช่วงสถานการณ์การค้ากับสหรัฐ และการค้าโลกที่ไม่สู้ดีนัก หากจะบอกว่า “ไม่หนักใจ” ก็คงไม่สามารถที่จะพูดได้ แต่มองว่าเป็น “ความท้าทาย” เพราะการประกาศกำแพงภาษีของสหรัฐไม่ใช่กระทบเฉพาะประเทศไทย แต่กระทบทั้งโลก แต่อย่างที่บอกว่า เรื่องนี้เปรียบเป็น “นาฬิกาปลุก” ให้เราตื่นจากการค้าขายปกติไปเรื่อย ๆ และพึ่งพาตลาดเดียวมาก ๆ อาจจะไม่ได้แล้วในยุคการค้าใหม่ แต่เราต้องค้าขายกับใครก็ได้ที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

“ยังมีหลายกรอบการค้า และกรอบการเจรจาอีกหลายกรอบที่เราต้องเร่งเดิมเกมเจรจาให้จบ เราจะได้รู้ว่า ยังมีคู่ค้าดี ๆ รายไหนบ้างที่จะมาค้าขายกับเรา ซึ่งถ้าคุยกันก็จะทำให้เห็นภาพของกลุ่มสินค้าที่เขาจะเลือกซื้อจากเรา และเราจะเลือกซื้อจากเขา ซึ่งต้องคุยกัน และทั้งโลกก็ต้องคุยกันและหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้การค้าไทยและการค้าโลกยังเดินหน้าต่อไปได้” นายธนากร กล่าวทิ้งท้าย