ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง สถานการณ์ราคายางพาราประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ราคายางทุกชนิดปรับตัวขึ้นมาแล้ว ดังนี้
1.ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ราคาปรับขึ้นมา 70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)
2.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี (ความชื้นไม่เกิน 3%) ราคาปรับขึ้นมา 68 บาทต่อกิโลกรัม
3.น้ำยางสด ราคาปรับขึ้นมา 58.75 บาทต่อกิโลกรัม
4.ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ราคาปรับขึ้นมา 58 บาทต่อกิโลกรัม
5.ยางก้อนถ้วย (DRC 70%) ราคาปรับขึ้นมา 40.60 บาทต่อกิโลกรัม
“จากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)และคณะกรรมการเครือข่ายฯ และการยางแห่งประเทศไทย ในเรื่องมาตรการขอความร่วมมือเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางเลื่อนฤดูกาลเปิดกรีดยางออกไปอีก 1 เดือน โดยให้เกษตรกรเลื่อนการเปิดกรีดจากเดิมจะทำการเปิดเดือนพฤษภาคม 2568 โดยให้เริ่มทำการเปิดกรีดเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งจะทำให้ผลผลิตยางหายไปจากระบบตลาดโลกไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน
หากมูลค่าผลผลิตยางพาราชนิดแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) กิโลกรัมละ 72.04 บาท (ข้อมูลจากการประกาศราคายางของฝ่ายเศรษฐกิจการยาง กยท. ณ วันที่ 3 เมษายน 2568) โดยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 14,400 ล้านบาท ในช่วงเวลาดังกล่าวการลดลงของอุปทานนี้จะสร้างแรงกดดันต่อสมดุลของตลาด ส่งผลทำให้ตลาดโลกยางตื่นตระหนกอนาคตซัพพลายจะขาดทำให้ผู้ค้าที่มีคำสั่งซื้อไว้จะต้องรีบซื้อของเก็บไว้ส่งมอบ ส่งผลทำให้ตลาดยางกลับมาคึกคักใหม่อีกรอบ”
ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวย้ำ ถึงแก้ไขปัญหาด้านราคายาง เพื่อคลายความกังวลใจของพี่น้องเกษตรกร โดยยึดมั่นตามแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ ที่ยึดมั่นการถวายงานและสานต่อของพระราชา รวมกับการดูแลเกษตรกรของพระราชาให้ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
"ที่ผ่านมา ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาต่ออุตสาหกรรมยางไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาและทบทวนแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมาตรการภาษีดังกล่าวออกมาแล้ว ท้ายที่สุดต้องมีคนจ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา หรือผู้ส่งออก ผู้รับซื้อในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ควรต้องเป็นพี่น้องเกษตรกรคนไทยที่เป็นคนจ่ายอย่างแน่นอน"
ในระหว่างเลื่อนเปิดกรีดยาง เกษตรกรชาวสวนยางสามารถบำรุงรักษาต้นยางให้แข็งแรงสมบูรณ์ เตรียมพร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อเปิดกรีด โดย กยท. จะสนับสนุนเงินกู้จากองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านโครงการสินเชื่อระยะสั้น สำหรับสถาบันเกษตรกรกรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตยางพารา (สถาบันฯ ละ 1 สัญญา) วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท / 1 สัญญา โดยปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือน สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตฯ เริ่มต้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป
นอกจากนี้มอบให้ กยท.ช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยางที่รับซื้อยางพาราโดยการช่วยเหลือชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ทั้งนี้จะต้องมีเงื่อนไขเป็นผู้ประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมกับวางแผนซื้อโรงงานผลิตยางล้อเพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรมาแปรรูป เพื่อดึงอุปทานผลผลิตยางออกจากตลาด และเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีมาตรฐาน สร้างโอกาสทางธุรกิจและการตลาด ส่งเสริมให้มีแบรนด์สินค้ายางพาราเป็นของ กยท. รวมถึงเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ราคายางปรับตัวใกล้เคียงระดับก่อนการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 72.00 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ซึ่งตรงกับวันก่อนประกาศมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอยู่ที่ 71.71 บาทต่อกิโลกรัม สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของราคายางในตลาด
ทั้งนี้ ราคายางประเภทอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ อันเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปสงค์และความเชื่อมั่นของตลาดที่เริ่มฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติก่อนเกิดสถานการณ์ดังกล่าว
"สถานการณ์ราคายางมีแนวโน้มขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเอกชนทางฝ่ายจีน ได้สายตรงมาหาผมเต็มไปหมด ว่าข่าวที่จะชะลอเลื่อนกรีดยางออกไป 1 เป็นข่าวจริงไหม จะทำจริงไหม ผมก็บอกว่านอกจากมาตรการชะลอเลื่อนกรีดยางแล้ว จะมีมาตรการแรงกว่านี้ หากไม่ให้ราคาที่เป็นธรรมแก่ชาวสวนยาง"
เปิดไทม์ไลน์ “ โดนัลด์ ทรัมป์ “ เก็บภาษีนำเข้าไปขายในประเทศสหรัฐฯ