สุริยะ ตั้งคำถาม ถ้าสู้คดี "รถไฟสายสีแดง"แล้วแพ้ หวั่นดอกเบี้ยพอก หลังศาลฯชี้ขาดเอกชนเป็นฝ่ายชนะ

15 เม.ย. 2568 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2568 | 12:39 น.

สุริยะ สั่งรฟท. เร่งถก หาทางออก คดี "สายสีแดง" บางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัญญา 1 หลังศาลปกครองกลาง ยืนตามอนุญาโตตุลาการ สั่งจ่าย 4,204 ล้าน ให้เอกชนใน 60 วัน หรือ ตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน เพิ่มเติม (Variation order - VO) กรณี รฟท.ต้องการสู้คดีต่อ หากแพ้คดี ดอกเบี้ย พุ่งรายวัน

 

ปมข้อพิพาทกว่า10ปี ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กับ เอกชน ผู้ก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน  จึงนำมาซึ่งการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาดและ ส่งเรื่องสู่ศาลปกครอง

รถไฟสายสีแดง

 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้รฟท.ต้อง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565

โดยให้ รฟท.ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้า เอส ยู ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)

ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัญญา 1 งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งรฟท. ลงนามสัญญา กิจการร่วมค้า เอส ยู เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2556 ในวงเงินสัญญา29,826,973,512 บาท

ตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน เพิ่มเติม (Variation order - VO) จำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท โดยให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

 

ต่อเรื่องนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ข้อพิพาท กรณีมีค่างานเพิ่มเติม ในโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัญญา 1  ยอมรับว่ามีข้อกังวล เรื่องอัตราดอกเบี้ยตามข้อพิพาท

ทั้งนี้ ถ้าหากรฟท.ปล่อยเวลาให้ผ่านไป จะส่งผลกระทบต่อภาระดอกเบี้ยพอกพูนมากขึ้นทุกวัน ในทางกลับกันหากสู้คดีต่อ ในที่สุด ได้แพ้ต่อคดี  จะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องคิดทบทวนให้ดี เพื่อหาแนวทางให้รฟท.ดำเนินการต่อไป นับจากนี้

ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ข้อพิพาทจากค่างานเพิ่มเติมงานก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง (VO) ขณะนี้ต้องดูกระบวนการตามกฎหมายว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ส่วนกรณีวงเงินที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาท ต้องพิสูจน์ว่า มีเนื้องานที่เกิดขึ้นจริงเท่าไรอย่างไร ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบงานที่ทำมา เพราะสุดท้ายอาจจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรี ขอขยายกรอบวงเงินโครงการ ต้องมีรายละเอียดชี้แจงได้อย่างชัดเจน

สำหรับ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง มี 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 1 งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง รฟท. ลงนามสัญญา กิจการร่วมค้า เอส ยู ( บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ) เป็นผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2556 ในวงเงินสัญญา 29,826,973,512 บาท

สัญญา 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต) รฟท.ลงนามสัญญา บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ( ITD) เป็นผู้รับจ้างงาน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556 ในวงเงินสัญญา 21,235,400,000 บาท

สัญญา 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) รฟท.ลงนามสัญญา กิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation เป็นผู้รับจ้าง วันที่ 30 มี.ค. 2559 วงเงินสัญญา 32,399,99 ล้านบาท

ข้อพิพาทสัญญาที่ 1 เกิดจาก มีงานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม (Variation order - VO) โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่  21 พฤศจิกายน 2565 

ให้ รฟท. ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้าเอส ยู  ตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน(VO) จำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน27,654,882.90 บาท ซึ่งต่อมารฟท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์

ต่อมา วันที่ 18 ตุลาคม 2567 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด  โดยมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำอุทธรณ์ของรฟท.ไว้พิจารณา และแจ้งผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและส่งเอกสารคืน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24ตุลาคม  2567
ปัจจุบัน กรอบวงเงินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565  จำนวน 96,868,332,434.95 บาท ซึ่งล่าสุด บอร์ดรฟท. เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 มีมติอนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายระยะเวลาก่อสร้าง

สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อันเนื่องมาจากปัญหาอุปสรรค ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง จำนวน 938 วันเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 847,746,729.42 บาท

พร้อมทั้งอนุมัติในการปรับกรอบวงเงินโครงการรถไฟสายสีแดงเนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างงานสัญญาที่ 1, สัญญาที่ 2, สัญญาที่ 3 รวมกันคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,613,824,075.42 บาท  อยู่ระหว่างเสนอครม. ขปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการ จาก 96,868,332,434.95 บาทเป็น 98,482,156,510.37 บาท 

ส่วนกรณี ค่างานเพิ่มเติม จากสัญญา 1 ที่ศาลปกครองกลางสั่งบังคับคดี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งรฟท.จะต้องชำระค่างาน VO อีกจำนวน 4,204 ล้านบาทไม่รวมดอกเบี้ย จะทำให้กรอบวงเงินโครงการรถไฟสายสีแดง เพิ่มเป็น 1.02 แสนล้านบาท