ผู้บริโภคหวั่นอีก 6 เดือน รายได้ไม่พอรายจ่าย

10 ก.ย. 2565 | 01:49 น.

กูรูชี้สัญญาณเงินเฟ้อยังขยับต่อ คาดสูงสุดไตรมาส 3 หลังเห็นตัวเลขส่งผ่านราคาพลังงานไปยังสินค้าอื่น แถมเจอค่าไฟเพิ่ม EIC เผยผลสำรวจผู้บริโภค หวั่นอีก 6 เดือนข้างหน้า รายได้โตไม่ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

 

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น 7.86% ในเดือนสิงหาคม ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ทำให้ 8 เดือน อัตราเงินเฟ้อของไทยขยายตัวแล้ว 6.14% และคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เนื่องจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าอื่น ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า EIC ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ใน 6 เดือนข้างหน้าและอาจปรับขึ้นเพิ่มเติมอีกในระยะถัดไป ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นอาจส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมใหม่รวมถึงภาระดอกเบี้ยจากหนี้เดิมที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นความท้าทายสำคัญต่อผู้บริโภคที่มีปัญหาการชำระหนี้อยู่แล้ว

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)

 

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือที่ค่อยๆฟื้นตัวได้จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ บวกข่าวดีจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งผูกโยงกับการจ้างงานภาคบริการและค่าจ้างเริ่มดีขึ้นแต่ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นปีนี้แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตภายใต้การปรับตัวเลขประมาณการหลังจากนี้ เพราะมีความเสี่ยงด้านต่ำ แต่จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดทอนกำลังซื้อหรือการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะกระจายผลกระทบสู่เศรษฐกิจไทยได้

ผู้บริโภคหวั่นอีก 6 เดือน รายได้ไม่พอรายจ่าย

“วันนี้ยังรับโอกาสกับการฟื้นตัวกับภาคท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศแต่เรายังรอนักท่องเที่ยวที่มีบัดเจ็ตหรือกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะกลับมาเมื่อไหร่และระยะยาวรูปแบบหรือประเภทนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปจากการแบ่งขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเตรียมรับมือ” นายสมประวิณ กล่าว

 

นอกจากนี้กำลังซื้อที่ฟื้นตัวยังเปราะบาง หากมีอะไรมากระทบย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งกลางปีหน้าจะเห็นผลกระทบชัดขึ้น โดยปัจจุบันแม้กลุ่มแรงงานไม่เป็นทางการ ภาคบริการหรือโรงแรมจะดีขึ้น แต่รายรับคนกลุ่มนี้ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด แม้รายได้ขั้นต่ำจะปรับเพิ่ม 5% แต่เงินเฟ้อยังสูง ทำให้รายได้ที่แท้จริงยังปรับเพิ่มไม่ทัน

 

ทั้งนี้ จากผลสำรวจ EIC Consumer Survey 2022 มีผู้ตอบแบบสำรวจเสร็จสมบูรณ์ทั้งสิ้น 2,676 คนพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาสำคัญ 3 ด้านและอาจจะมีมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเปราะบางของภาคครัวเรือน ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาการเก็บออมและปัญหาด้านการชำระหนี้ คาดว่าใน 6 เดือนข้างหน้า ปัญหาเหล่านี้จะยังอยู่ในระดับน่ากังวลจากรายจ่ายที่เพิ่มเร็วกว่ารายได้และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

 

“ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ EIC สะท้อนว่า 6 เดือนที่ผ่านมา 59% มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย หรือจำนวนเงินที่เก็บออมเทียบกับ 6 เดือนก่อนหน้าพบว่า พูดตอบแบบสำรวจ 77% การเก็บออมได้รับผลกระทบ และ 47% มีปัญหาภาระการชำระหนี้ ขณะที่ 6 เดือนข้างหน้า 43.8% ของผู้บริโภคคาดว่า รายจ่ายจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ารายได้ และมีเพียง 14.9% ที่มองว่า รายได้จะเพิ่มมากกว่า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว สะท้อนถึงแรงกดดันต่อการใช้จ่ายและการออมภาคครัวเรือน” นายสมประวิณ กล่าว

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อยังเป็นบวกจากสัญญาณที่ปรับเพิ่มเดือนต่อเดือนและมีโอกาสขยับเพิ่มในระยะต่อไป โดยตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จะอยู่ในระดับสูงสุด (พีค) ไตรมาส 3

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT)

ขณะนี้เริ่มเห็นตัวเลขเงินเฟ้อด้านพลังงานส่งผ่านไปยังสินค้าประเภทอื่น แม้ราคาพลังงานจะปรับลดลงก็ตาม โดยเฉพาะการกลับมาของค่าไฟฟ้าและสินค้าประเทศอื่นๆ ในเดือนกันยายน และสิ่งที่ต้องลุ้นในปลายเดือนกันยายนคือ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสที่กรรมการจะเสียงแตกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

 

“ยังมีลุ้นว่า กนง.จะเสียงแตกหรือไม่ในการประชุม 28 กันยายน เพราะบางเสียงกลัวล่าช้าในการส่งผ่านนโยบายการเงิน จึงอาจมีเสียงกรรมการเพิ่มขึ้นในการเสนอปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตรา 0.50% ส่วนตัวห่วงแบงก์จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อส่งผ่านต้นทุน”นายอมรเทพ กล่าว

 

สำหรับความท้าทายที่สำคัญในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจตอนนี้ จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเดือนต่อเดือนอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น หากดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลงช้าลงจะยิ่งซ้ำเติมกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะการบริโภคที่ชะลอและโตต่ำ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,816 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2565