นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มเงินสวัสดิการพิเศษให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจ่ายเงินสวัสดิการพิเศษเพิ่มเติมให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีสำนักงานอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงภัย แต่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ
ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายเงินสวัสดิการพิเศษให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ในอัตรา 2,500 บาท ต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีที่ตั้งของสำนักงานอยู่นอกพื้นที่พิเศษ แต่มีลักษณะงานจำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ
ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่พิเศษ ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อีกทั้งในปัจจุบันมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและค่าครองชีพสูง
รฟท. จึงเห็นควรปรับปรุงค่าเสี่ยงภัยในอัตราใหม่และจ่ายค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีสำนักงานอยู่นอกพื้นที่พิเศษแต่มีลักษณะงานต้องเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่พิเศษ ดังนี้
ทั้งนี้ การปรับปรุงการจ่ายเงินสวัสดิการพิเศษในครั้งนี้ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม จำนวน 1,357,768.98 บาทต่อเดือน หรือ 16.29 ล้านบาทต่อปี โดยจะใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ รฟท. และให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ
นายอนุกูล กล่าวว่า คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มีมติเห็นชอบแล้ว และกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง
โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น สำนักงบประมาณ เห็นว่า รฟท. ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายบุคลากรในภาพรวมโดยคำนึงถึงสถานะการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการ มีการจัดทำแผนการเพิ่มประสิทธิภาพ การดำเนินงานหรือเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชน
รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณและฐานะทางการเงินในอนาคต และ สศช. เห็นควรให้ รฟท. กำกับการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้เป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม พร้อมทั้งกำหนดให้มีระบบควบคุมตรวจสอบเพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ