เปิดแนวทางดันกรุงเทพมหานครขึ้นแท่นศูนย์กลางการเงินโลก

10 มิ.ย. 2568 | 00:19 น.

อนุสรณ์เปิดแนวทางดันกรุงเทพมหานครขึ้นแท่นศูนย์กลางการเงินโลก ชี้เป็นการลงทุนมูลค่าสูง และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้โตเพิ่มขึ้น

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นโยบายผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกเป็นเรื่องท้าทายและมีความสำคัญ ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมบริการการเงิน การลงทุนที่มีมูลค่าสูง ถือเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนหนึ่งที่จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของไทยสูงขึ้นในอนาคต 

ทั้งนี้ ควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จและล้มเหลวของนโยบายที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคด้วยการเปิดเสรีทางการเงินช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540 ให้ดีด้วยว่า ทำไม มาตรการ BIBF จึงสะดุดและยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินตัวและธุรกรรมเก็งกำไรเกินขนาดในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ 

อย่างไรก็ดี หากต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกอาจต้องมียุทธศาสตร์และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการแต่จะเป็นประโยชน์แน่นอน การตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกต้องทำให้อันดับ Global Financial Centers Index ของกรุงเทพฯมาอยู่ที่ 20 อันดับแรกเป็นอย่างน้อย 

นอกจากนี้ การดำเนินการไปสู่เป้าหมายมีความท้าทายจากการที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเติบโตต่ำมามากกว่าหนึ่งทศวรรษ อยู่ท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า มีข้อจำกัดฐานะทางการคลังมากขึ้น 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่ออีกว่า เวลาพูดถึงศูนย์กลางทางการเงินมักหมายถึง เมืองหรือประเทศที่สามารถดึงดูดให้สถาบันการเงิน สถาบันการลงทุนจำนวนมาก ทั้งสถาบันระดับภูมิภาคและระดับโลก เข้ามาลงทุนและใช้เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ และ หากต้องการเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกระดับต้นๆควรต้องมีสินทรัพย์ของสถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 200% ของจีดีพี 

สำหรับความท้าทายของไทยในการนำพากรุงเทพฯสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ประกอบด้วย 

  • สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการเงินและการลงทุนหรือไม่ สะท้อนมาที่ดัชนีความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะในมุมของนักลงทุนมักให้ความสำคัญอัตราภาษีที่ต่ำ ไม่ซ้ำซ้อนและต้นทุนต่ำ ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร แต่มีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองไม่ดีนัก มีรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงการเมืองไม่เป็นไปตามวาระและวิถีทางประชาธิปไตยบ่อยครั้ง 
  • ระดับการเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุนอยู่ที่ระดับไหน (Level of Financial and Investment Liberalization) กรุงเทพฯมีระดับการเปิดเสรีภาคการเงินไม่สูงเท่ากับสิงคโปร์ ฮ่องกง นิวยอร์ก ลอนดอน ซานฟานซิสโก ชิคาโก บอสตัน ลอสแองเจลีส  เวียนนา มิลาน ปารีสหรือ หมู่เกาะอย่างเคย์แมน บริติชเวอร์จิน แต่ไทยมีระดับการเปิดเสรีในระดับที่พัฒนาต่อยอดได้ 
  • ความพร้อมของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงิน ประเทศไทยมีความพร้อมในระดับปานกลาง ยังต้องพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุนเพิ่มเติมอีกมาก 
  • ความเชื่อมั่นและการยอมรับในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เกี่ยวข้องกับวางระบบกฎหมาย การที่กระทรวงการคลังจะมีแผนในการจัดทำกฎหมายทางการเงินใหม่ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม ไอทีและเทคโนโลยีสารสนเทศถือว่ามีความสำคัญมากในระบบการเงินและการลงทุนแบบดิจิทัล 
  • ระบบความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการและระบบความมั่นคงปลอดภับทางไซเบอร์และธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ 
  • การกำกับดูแล ความมีธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ความคงเส้นคงวาและคาดการณ์ได้ของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบสถาบันการเงินนโยบายการเงินและนโยบายการลงทุน