นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงวิสัยทัศน์นโยบายสลากออมทรัพย์เพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ “สลาก กอช” หรือหวยเกษียณ ว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ สัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ สวัสดิการ และความมั่นคงทางการเงินของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณ ภายใต้บริบทนี้ “สลาก กอช” จึงเป็นหมุดหมายใหม่ของการปฏิรูประบบการออมของคนไทย ที่มุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจเชิงพฤติกรรม เปลี่ยนวิธีคิดจาก “ต้องออม” เป็น “อยากออม”
“สลาก กอช เป็นมากกว่านโยบายส่งเสริมการออม เพราะผสานแนวคิดออมแล้วลุ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจที่จับต้องได้ ช่วยให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการออมมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานวัฒนธรรมการออมอย่างยั่งยืนของไทย”
ทั้งนี้ สลาก กอช เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนที่มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีสิทธิซื้อสลากได้ โดยไม่จำกัดอาชีพ เพื่อความเท่าเทียมและครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม จำหน่ายในรูปแบบสลากขูดดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน กอช. ซื้อได้สูงสุดคนละไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
ออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. ประกอบด้วย
ผู้ที่ถูกรางวัลสามารถรับเงินได้ทันที ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ซื้อจำถูกรางวัลหรือไม่ เงินที่ใช้ซื้อสลากทุกบาทจะถูกนำฝากเข้าบัญชีเงินออมส่วนบุคคล และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตามที่เงื่อนไขกำหนด และสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องถือเงินออมไว้อย่างน้อย 5 ปี จึงจะสามารถถอนเงินทั้งหมดได้
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ความคืบหน้าในการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. กอช. เพื่อรองรับการดำเนินงาน “สลาก กอช” อยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ หากพิจารณาแล้วเสร็จจะส่งกลับไปยังสภาฯ ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
สำหรับการวางแผนการเงินถือเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ทันที โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจมีความผันผวนอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ การบริหารจัดการเงินอย่างมีระเบียบจะช่วยสร้างวินัยทางการเงิน และวางรากฐานความมั่นคงในระยะยาวได้
จึงขอแนะนำแนวทางง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยการแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. 50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น
2. 30% สำหรับการใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุข
3. 20% สำหรับเก็บออม
เพราะหากเราสามารถวางแผนการเงินอย่างมีวินัยตั้งแต่วันนี้ ไม่เพียงแต่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจได้ดี แต่ยังสามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตและเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ
สำหรับกอช. จึงถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคนไทยที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญจากรัฐ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า แรงงานนอกระบบ ที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ และเริ่มต้นออมได้ตั้งแต่ 50 บาทต่อครั้ง สูงสุด 30,000 บาทต่อปี และยังได้รับการออมสมทบเพิ่มจากรัฐตามช่วงอายุสูงถึง 100 % ดังนี้
“กอช. ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนออมเงินได้อย่างยืดหยุ่นและได้รับเงินสมทบจากรัฐ แต่ยังมีโอกาสได้รับเงินบำนาญรายเดือนตลอดชีพ เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และรัฐค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร ซึ่งเงินออมยังสามารถ นำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30,000 บาทต่อปี จึงขอเชิญชวนคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เริ่มต้นออมกับกอช. ตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีในภายภาคหน้า”