อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ดันอุตฯความงามไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอาเซียน

08 พ.ค. 2568 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2568 | 04:42 น.

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เดินหน้าดันอุตสาหกรรมความงามไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน รุกเชื่อมโยงตลาด สร้างเครือข่ายรับการเติบโต

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทยเปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับอุตสาหกรรมความงามของไทย โดยมุ่งเชื่อมโยงกับตลาดในภูมิภาคอาเซียน 

ทั้งนี้ เนื่องจากไทยถือว่าเป็นประตูและศูนย์กลางของภูมิภาค โดยดำเนินการผ่านงาน Cosmoprof CBE ASEAN Bangkok 2025 ซึ่งจะเป็นการนำเสนอ และแลกเปลี่ยนนวัตกรรม ความร่วมมือทางธุรกิจ และขยายเครือข่ายรองรับการเติบโตระดับภูมิภาคในอุตสาหกรรมความงาม

โดยมุ่งเน้นไปที่เทรนด์ความงามที่สำคัญหลายด้าน เช่น อาหารเสริมความงาม(Beauty Supplement) ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 9% ภายในเวลาเพียงสองปี 

,ความงามทางการแพทย์ (Medical Beauty)จากการวิจัยของธนาคารกรุงศรี อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มความงามทางการแพทย์ มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2025 ซึ่งคาดว่าทั้งตลาดภายในและต่างประเทศจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5.5-7.0% และ 6.5-7.5% 

นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดความงามโลกมีมูลค่ารวมราว 2.94 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 10.834 ล้านล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีสัดส่วน 39% เติบโต 2.7% ,ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมมีสัดส่วน 21% เติบโต 4.8% ,ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีสัดส่วน 17% เติบโต 4% ,ผลิตภัณฑ์น้ำหอมมีสัดส่วน 13% เติบโต 11% และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมีสัดส่วน 10% เติบโต 6.1% 

ส่วนตลาดความงามในแต่ละกลุ่มตลาด พบว่า กลุ่มตลาดเวชสำอางเติบโตมากที่สุด 8% รองลงมาเป็นกลุ่มตลาดมวลชน 6% กลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ 3.5% และกลุ่มตลาดความงามชั้นสูง 2%

นอกจากนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 1,000 ล้านคนทั่วโลก จากปัจจุบันที่มีจำนวน 850 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของตลาดความงาม เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงและสนใจในการดูแลผิวพรรณ รูปร่าง และสุขภาพของตนเอง และยังมีกลุ่มประชากรที่มีศักยภาพ

สำหรับการบริโภคผลิตภัณฑ์ความงามอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเจนซี (Generation Z) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคนในปี 2573 ,กลุ่มเจนอัลฟา (Generation Alpha) เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในปี 2573 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 200 ล้านคน และกลุ่มผู้บริโภคผู้ชาย ที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่อีกมาก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพียง 1 ใน 4 ของผู้บริโภคทั้งหมด และผลิตภัณฑ์เฉพาะผู้ชายมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามแค่ 10% เท่านั้น

นายเอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการBrandThink กล่าวว่า แบรนด์ที่แข็งแกร่งไม่ได้เกิดจากแค่ผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่ต้องมีเรื่องราวที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภค และสามารถส่งต่อคุณค่าได้อย่างชัดเจน 

“การสร้างแบรนด์ (Brand Building) ในยุคปัจจุบัน ต้องมากกว่าการทำตลาดแบบเดิมแต่ต้องเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้บริโภค ผ่าน Storytelling ที่จริงใจ การมีจุดยืนที่ชัดเจน (Brand Purpose) และการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง”