ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลายระลอกตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) คือเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้ในการบริหารจัดการรายรับและรายจ่ายของภาครัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเจริญเติบโต และกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
หนึ่งในบทบาทสำคัญของนโยบายการคลัง คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
ย้อนกลับไปในช่วง วิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชีย พ.ศ. 2540 รัฐบาลไทยต้องเผชิญกับภาระหนี้สินจำนวนมหาศาลจากการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินและการดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้ว่าในระยะยาวเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาเติบโตได้ แต่ภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้จำกัดพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
ต่อมาใน วิกฤตการณ์ทางการเงินโลก พ.ศ. 2551-2552 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ส่งผลให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นอีกระลอก
ล่าสุดกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วิกฤติการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลไทยใช้นโยบายการคลังอย่างเข้มข้น เช่น การออกพระราชกำหนดเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินเยียวยาโดยตรง การสนับสนุนสินเชื่อ การพักชำระหนี้ และมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
มาตรการเหล่านี้ แม้จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนและพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะทางการคลังของประเทศ ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและพื้นที่ทางการคลังลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะหลังช่วงโควิด-19 พื้นที่ทางการคลังของไทยลดลงอย่างมาก เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2565 ไทยขาดดุลงบประมาณประจำปีเข้าใกล้กรอบกฎหมาย ทำให้ปี 2568 ไทยแทบไม่เหลือพื้นที่การคลัง
ปัญหาที่น่ากังวลคือ หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งในอนาคต ประเทศอาจไม่มี “พื้นที่ทางการคลัง” เพียงพอในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเหมือนในอดีต เพราะการกู้เงินเพิ่มเติมอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และอาจนำไปสู่การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ประเทศไทยผ่านวิกฤตครั้งใหญ่หลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2527-2528 ที่เผชิญกับราคาน้ำมันสูงและการลดค่าเงินบาท ก่อนจะมาเจอวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ซึ่งล้วนแต่ส่งแรงกระแทกต่อฐานะการคลังของประเทศอย่างรุนแรง
แต่ทุกครั้ง ประเทศไทยก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ พร้อมบทเรียนสำคัญที่นำไปสู่การเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับระบบเศรษฐกิจไทย
“แน่นอนว่า ทุกวิกฤตมีความเสียหาย ตัวเลขเศรษฐกิจอาจจะไม่สวยในบางช่วง และมีความท้าทายต่อฐานะการคลังมาตลอด แต่เราก็ผ่านพ้นมาได้และได้บทเรียนอย่างการจัดตั้งเครดิตบูโรก็เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การออกกฎหมายว่า ด้วยวินัยการเงินการคลัง เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณอย่างไร้ระเบียบในอนาคต ก็มาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์”นายลวรณกล่าว
เมื่อพูดถึงสงครามการค้าระลอกใหม่ที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการภาษีตอบโต้ทั่วโลก นายลวรณกล่าวว่า แม้ไทยจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง แต่ก็หลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลางและเล็กในเวทีโลก ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง แต่หากโจทย์ชัดเมื่อไหร่ ไทยมีความพร้อมทั้งในเชิงข้อมูลและเครื่องมือในการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นายลวรณยังมองว่า วิกฤตนี้อาจเป็นโอกาสในการเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น ภาคเกษตรที่ยังเป็นฐานสำคัญของประเทศ หากยังทำเกษตรแบบเดิม ไทยอาจสู้ในตลาดโลกไม่ได้ ดังนั้น การผลักดันเกษตรสมัยใหม่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม เป็นแนวทางที่ไทยควรเดิน
ดังนั้น การจะใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้โจทย์ต้องชัดเจนเสียก่อน เพราะการใช้เงินต้องมีเป้าหมายแน่นอน เช่น การกระตุ้น การบริโภค การลงทุน หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยย้ำว่า หากจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม รัฐบาลต้องสามารถตอบสังคมได้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์การใช้เงิน และแผนการชำระหนี้ในอนาคต
“หากจำเป็นต้องกู้เงินก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้ามีการใช้เงินอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถชำระคืนได้ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ใช้สินเชื่อขยายกิจการ แม้เพดานหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 64% ของ GDP และหากกู้เพิ่มเติมอีก 500,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นเพียงราว 3% ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลหากสามารถอธิบายต่อสังคมและสภาได้อย่างโปร่งใส”นายลวรณกล่าวทิ้งท้าย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,094 วันที่ 8 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568